ข่าว

พลิกโฉมสายด่วน 1212 สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์

พลิกโฉมสายด่วน 1212 สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์

24 พ.ย. 2564

รมว.ดีอีเอส ยกระดับสายด่วน 1212 OCC  สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพทางออนไลน์ เผยยอดร้องเรียนปัญหาออนไลน์ปีนี้ใกล้แตะ 50,000 เรื่อง กว่า 67% เป็นปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ปรับโฉมบริการโทร 1212 OCC สู่ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์” เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ ให้เข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยขยายขอบเขตการรับเรื่องร้องเรียนไปถึงปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาการฉ้อโกง เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และแชร์ลูกโซ่ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น 

โดยครอบคลุมทั้งการทำงานในการป้องกันและจัดการปัญหาออนไลน์ไปยังภาครัฐ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)  ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นไปได้เร็วขึ้น, ภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทด้านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล และยูทูบ , ภาคประชาสังคม เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค  

ทั้งยังได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและจัดการปัญหาและข้อร้องเรียนหรือภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์ ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกัน จัดการ และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนขยายช่องทางการรับแจ้งเรื่อง ของศูนย์ผ่านช่องทาง Line และสำนักงานสถิติจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

พลิกโฉมสายด่วน 1212 สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเตรียมจัดตั้งศูนย์ปราบปรามมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพทำงานร่วมกันกับตำรวจ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มโซเชียล และ กสทช. มุ่งพันธกิจในการเร่งรัดติดตามการป้องกันปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดติดตามดำเนินคดีผู้กระทำผิด ลดอุปสรรคความล่าช้าในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและแกะรอยเส้นทางการเงินของบัญชีมิจฉาชีพ  ตลอดจนหาแนวทางดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้รวดเร็วที่สุด

โดยจากการประชุมวานนี้ (23 พ.ย. 64) ร่วมกับตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ข้อสรุปหลักๆ เพื่อจัดทำแนวทางแก้ปัญหา ได้แก่การหารือกับสมาคมธนาคารไทย และแบงก์ชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันในการเปิดบัญชีแทนผู้อื่น และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับการรับจ้างเปิดบัญชี ซึ่งถือเป็นต้นตอร้ายแรงของปัญหามิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ในปัจจุบัน โดยอาจกำหนดโทษเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่นำบัญชีไปจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด เจ้าของบัญชีจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และตามประมวลกฎหมายอาญาร่วมด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังกล่าวถึงการเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยจะจัดทำช่องทางสื่อสารกลางผ่านออนไลน์ ที่มีระบบความมั่นคงปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล  พร้อมกำหนดตัวตนของบุคคลที่จะอยู่ในเครือข่ายประสานงานการรับแจ้งความคดีด้านนี้ไว้อย่างชัดเจน  เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนติดตามขอข้อมูลประกอบพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินคดี  เพราะยิ่งฝ่ายสอบสวนสืบสวนได้รับข้อมูลล่าช้าจากธนาคารในเรื่องเส้นทางการเงินที่เหยื่อหลงเชื่อโอนไปบัญชีมิจฉาชีพ หรือจากผู้ให้บริการมือถือ  ซี่งมีรายชื่อผู้ลงทะเบียนใช้บริการส่ง SMS หลอกลวง  โอกาสที่จะติดตามเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายจะยิ่งหมดไป  เพราะมีการโอนกระจายต่อไปบัญชีอื่นๆ อย่างรวดเร็ว  และหลายครั้งปลายทางอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน  ทำให้ยากต่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

ทั้งนี้จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์จึงเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลการสำรวจทั้งในมุมของพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และสถิติมูลค่า e-Commerce ของประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ พบว่า จำนวนชั่วโมงของผู้ใช้งานอิเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดเฉลี่ย อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน 

สำหรับกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ทั้งการใช้งานกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น SMEs มีการใช้ช่องทางของแอปพลิเคชั่นธนาคารในการรับชำระสินค้าและบริการ อยู่ที่ 58.56% และมีการใช้ Social commerce เป็นช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ถึง 71.83% เป็นต้น 

ขณะที่ตัวเลขสถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 1212 OCC ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดปี 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 49,996 ครั้ง ปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือการซื้อขายของทางออนไลน์  67.11 % รองลงมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย 23.06 % และหากลงรายละเอียดของปัญหาการซื้อขายของทางออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไว้มากถึง 47% ตามมาด้วย สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่โฆษณา 29% เป็นต้น