“จุรินทร์” ชงต่อต้านความรุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก-สตรี เป็นวาระแห่งชาติ
“จุรินทร์” รับหนังสือจากเครือข่ายสตรี เนื่องในวันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีสากล เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืน กระทำชำเรา และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (24 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าวันนี้ ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้รับมอบหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายสตรี ข้อเสนต่อรัฐบาลในการป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องในวันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในฐานะประธาน กยส. ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งถือเป็นประเด็นที่เราร่วมมือร่วมใจกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ กลุ่มสตรีต่าง ๆ แก้ไขปัญหากันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่น่าเป็นห่วง คือ ตัวเลขของการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีไม่ได้ลดลง
ขณะเดียวกันเรื่องเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมแค่ประมาณ 10% ของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันคลี่คลายปัญหานี้ต่อไป และในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทำต้นเรื่องทั้งหมดในการดำเนินการเสนอเรื่อง เรื่องการป้องกันและแก้ไขการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและกำลังขัดเกลาข้อความ ถัดจากนี้ตนเองจะพยายามผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อกำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติต่อไปเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วง และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลดระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและทุกเรื่องได้อย่างไร
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้การกำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ จะครอบคลุมการทำงานในหลายมิติและกลุ่มสังคม รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย อาทิ การปรับหลักสูตรการสอนเพศวิถีให้มีความเข้าใจง่าย การบูรณาการหลักสูตรการป้องกันตนเองในวิชาเรียน การขจัดทัศนคติที่ผิดๆต่อเพศหญิง การพัฒนาแนวทางปฏิบัติในเรื่องการสอบถามข้อเท็จจริงต่อผู้เสียหาย การเพิ่มและปรับปรุงกฎหมายคดีความผิดทางเพศ การกําหนดโทษทางวินัยร้ายแรงแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่วงละเมิดทางเพศ การกําหนดสัดส่วนของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เป็นต้น