ข่าว

ม.มหิดล มุ่งบริการด้วยหัวใจ ใส่ ความเป็นมนุษย์ ลงไปในนวัตกรรม

ม.มหิดล มุ่งบริการด้วยหัวใจ ใส่ ความเป็นมนุษย์ ลงไปในนวัตกรรม

24 พ.ย. 2564

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ เชื่อว่าต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถช่วย ต่อลมหายใจ แห่งมวลมนุษยชาติให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่อย่าลืมใส่ ความเป็นมนุษย์ ลงไปในนวัตกรรม

ใครที่เคยประทับใจวรรณกรรมโลกอย่าง “The Wizard Of Oz” ผลงานโดย Lyman Frank Baum 1856 - 1919) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ที่ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วประมาณเกือบ 60 ภาษาทั่วโลก จากที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1900 คงไม่มีวันลืมตัวละครเรียกน้ำตา “หุ่นกระป๋องอยากมีหัวใจ” 

 

จนเมื่อเวลาผ่านไปแล้วกว่าศตวรรษ แม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใดในโลกเสมือน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนยังคงโหยหา “หัวใจของความเป็นมนุษย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์

 

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล "ม.มหิดล" ได้กล่าวไว้ในฐานะประธานในพิธีเปิด และบรรยายนำการอบรมออนไลน์ “Health caRe Tele-delivery Service” ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล

 

และการบรรลุเป้าหมายก้าวสู่อันดับ 3 กายภาพบำบัดเอเชียในอีก 3 ปีข้างหน้าของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

โดยให้ความเชื่อมั่นว่า แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมตามความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะทอดทิ้งประชาชนให้อยู่แต่กับบริการจากเทคโนโลยีที่ไม่มี Human Touch หรือ Human Heart ซึ่งเป็น บริการด้วยหัวใจ ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้

 

ซึ่งสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้ทิ้งไว้แต่ความสูญเสียไว้ข้างหลัง แต่ในทางกลับกันเป็น ตัวเร่ง ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่ง 4D ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุค Post COVID-19 ได้แก่ Digital-Distancing-Discrimination-Domestic ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยสัมผัสกับ โลกแห่งดิจิทัล  

 

เมื่อต้อง รักษาระยะห่าง อยู่กับบ้านในช่วงวิกฤติโควิด-19 ชี้ให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถช่วย ต่อลมหายใจ แห่งมวลมนุษยชาติให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้มากน้อยเพียงใด

ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์จำเป็นต้องอาศัย “Demand Pull” หรือจากความต้องการของประชาชน และ “Technology Push” หรือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าทุกคนต้องการ “ความเอาใจใส่”

 

ศ.นพ.บรรจง กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเห็นผู้รับบริการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด จะร่วมกับภาคเอกชน ผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันมาตรฐานโลก

 

ซึ่งเหมือนเป็น ที่ปรึกษาทางกายภาพบำบัด ได้รับบริการออนไลน์ที่สามารถให้การบำบัดดูแลทั้งกายและใจ โดยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไปในอนาคต