ข่าว

สกสว.ตั้งเป้าพัฒนาโลจิสติกส์ คงฐานะอันดับ 2 อาเซียน ลดต้นทุนเหลือ 11% ต่อ GDP

สกสว.ตั้งเป้าพัฒนาโลจิสติกส์ คงฐานะอันดับ 2 อาเซียน ลดต้นทุนเหลือ 11% ต่อ GDP

25 พ.ย. 2564

สกสว.จัดประชุม “มองภาพอนาคตด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ” หวังเป็นผู้นำของภูมิภาค คงฐานะอันดับ 2 ของอาเซียน ลดต้นทุนระบบขนส่งเหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP ภายใน 10 ปี

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “การจัดการความรู้และบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ” หัวข้อ “การมองภาพอนาคต (Foresight) ในภาพของ ววน. ด้านโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศในอนาคต” ผ่านแอพพลิเคชั่นซูม โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ ร่วมการประชุม

ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวเปิดการประชุมว่า  การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความเห็นที่สามารถสะท้อนภาพอนาคตด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย และการจัดทำแผนด้าน ววน.ปี 2566-70 ที่ สกสว.ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ด้วยการใช้ฐานความรู้ ความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ มาพัฒนาและออกแบบงานการวิจัย  เชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 5 “ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค” ยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค  เพื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมและโลจิสติกส์ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความต้องการของประเทศ  เพราะ “โลจิสติกส์” เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เชื่อมโยงกับมิติต่าง ๆ
 

ด้าน รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบขนส่งของประเทศไทย ว่ามีความพยายามลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย ในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศที่กลับมาขยายตัว รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 13.8-14.0 ต่อ GDP ซึ่งยังถือว่าสูง  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ไทยจะต้องกำหนดเป้าหมายการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 10 ปีข้างหน้า เหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP  โดยนับจากปี 2565 ถึงปี 2575 เพื่อให้ไทยเป็นประเทศการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค และแม้การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นเพียงความฝัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ขณะที่ ผศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้จัดอันดับด้านโลจิสติกส์ประจำปี 2018  จากการสำรวจ 160 ประเทศให้ ไทยเป็นประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีคะแนนรวม  3.41 จากคะแนนเต็ม 5.0  รองจากสิงคโปร์ที่มีคะแนนรวม 4.00 เป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน   

โดย​​​แนวทางที่จะรักษาอันดับประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนได้นั้น  ต้องมีองค์ประกอบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี กฎหมาย และสิ่งแวดล้อม แบบองค์รวม ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยรักษาอันดับประเทศที่มีคุณภาพด้านโลจิสติกส์สูงแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อีกทางหนึ่งด้วย