แอมเนสตี้ฯ ยังเงียบ ไม่โต้ตอบกรณีโดนไล่พ้นไทย พร้อมแจง 6 ความจริงที่ถูกต้อง
แอมเนสตี้ฯ ยังเงียบ ไม่โต้ตอบกรณีโดนไล่พ้นไทย แต่แจง 6 ความจริงที่ถูกต้อง พร้อมย้ำเป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 60 ปี แก่คนทั่วโลก ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง และไม่แสวงหากำไร ไม่รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่น ๆ
จากกรณีที่วันนี้ (25 พ.ย.) นายนพดล พรหมภาสิต กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและเครือข่ายปกป้องสถาบัน 6 องค์กร ได้มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ "แรมโบ้อีสาน" ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบการทำงานขององค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand ) มีพฤติกรรมการกระทำเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาประกาศท้าเดิมพันเก้าอี้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่า หากเขาไม่สามารถขับไล่ให้แอมเนสตี้ฯ ออกไปจากประเทศได้ ยินดีที่จะลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 20 จังหวัดภาคอีสาน ได้ร่วมกันลงชื่อให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไทยในวันเดียวกันด้วย
ล่าสุด จากการเข้าไปติดตามในเพจของ Amnesty International Thailand นั้น ยังไม่มีการออกมาตอบโต้ หรือเคลื่อนไหวในประเด็นนี้แต่อย่างใด มีเพียงข้อมูลที่แจ้งถึงการดำเนินงานของแอมเนสตี้ฯ ในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้ง 6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ โดยระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราคือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ เอ็นจีโอ ที่เข้ามาบทบาทในประเทศประเทศไทย จากการทำกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
วันนี้เราจึงถือโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกับองค์กรของเราผ่าน 6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
1. แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
นับแต่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย และยังเป็นความทรงจำอันมืดมนของใครหลายๆ คน และเหตุการณ์ในวันนั้นเองที่ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวไทยในนามองค์กรนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะจดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นล้วนแต่มาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก
และในพ.ศ. 2536 เป็นครั้งแรกที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่สนใจสิทธิมนุษยชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และจดทะเบียนในฐานะสมาคมตามกฎหมายไทยภายใต้ชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อร่วมทำงานพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากผู้สนับสนุนทุกคนในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2546
2. สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดที่ว่าตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความเป็นจริงแอมเนสตี้มีจุดกำเนิดมาจาก ปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ ดังนั้นจึงทำให้สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
3. เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเรามีเงินจัดกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร และบางคนมีความเข้าใจผิดที่ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงเงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมของเรา ล้วนแต่มาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่น ๆ
4. เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใด ๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบใด แอมเนสตี้ก็ยังต้องทำงานเพื่อเรียกร้องหรือกดดันให้ประเทศนั้น ๆ ยกระดับและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยไม่มองว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหรือว่ารัฐประหาร เพราะทุกระบอบการปกครองล้วนมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
5.มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วโลก
เนื่องด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมเราในปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มากมาย จึงทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ ยังคงต้องยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน และการที่เรามีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศก็สามารถทำให้เราทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร
6.ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 60 ปี
ตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ หากนับเป็นตัวเลขของอายุคนเราก็คงเป็นคนหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสุดท้ายของชีวิต และเป็นวัยที่ทุกอย่างเริ่มเชื่องช้าลง แต่กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรายังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเกิดความเท่าเทียมมากกว่าที่เป็น จนทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย อาทิการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกในปี 2520 หรือล่าสุด ฆาลิด ดราเรนี นักข่าวชาวแอลจีเรียได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกคุมขังเพียงเพราะทำหน้าที่รายงานข่าวเมื่อปี 2563
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใคถูกกดให้ต่ำลง
Amnesty International Thailand
คริสตินา โรธ์ และ อัลลี แมคแครกเกน จาร์รา