ข่าว

"ชมพูสิริน" พืชชนิดใหม่ของโลก หนึ่งในเทียนที่สวยสุดในสยาม

"ชมพูสิริน" พืชชนิดใหม่ของโลก หนึ่งในเทียนที่สวยสุดในสยาม

26 พ.ย. 2564

ชมพูสิริน นามพระราชทาน Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan วงศ์ Balsaminaceae จากอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

"ชมพูสิริน" เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์เทียน มักขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ลำตันอวบน้ำ มีนวล มักห้อยลง ยาวได้ถึง 40 ซม. ใบเดี่ยว เรียงเวียนชิดกันที่ปลายลำต้น ใบรูปไข่ กว้าง 2.8 - 3.5 ซม. ยาว 3.2 - 4 ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือเว้าเป็นรูปหัวใจเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ 3 - 6 เส้น ก้านใบยาว 6 - 7.5 ซม. ปลายก้านมีต่อม 2 ต่อม ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2 ดอก ก้านดอกเรียวยาว กลีบเลี้ยคู่ข้างมีข้างละ 2 กลีบ กลีบเลี้ยงล่าง 1 กลีบลักษณะเป็นถุง ปลายเป็นเดือยโค้ง กลีบดอกสีม่วงอมชมพูอ่อน กลีบบนรูปไข่กลับ ปลายเป็นติ่งแหลม กลีบดอกที่เหลือเชื่อมติดกันเป็น 3 แฉก แฉกคู่ตรงข้ามรูปไข่กลับ ปลายเป็นติ่งแหลม แฉกล่างโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก รังไข่เกลี้ยง ผลรูปทรงรี

\"ชมพูสิริน\" พืชชนิดใหม่ของโลก หนึ่งในเทียนที่สวยสุดในสยาม

ชมพูสิรินเป็นหนึ่งในเทียนที่สวยที่สุดของไทย เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic) พบเฉพาะแถบสุราษฎร์ธานีและกระบี่ ตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดยทีมผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์เทียนของไทย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน คำระบุชนิด ‘sirindhorniae’ ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตัวอย่างต้นแบบเก็บจากเขาหินปูนในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2007

#ทีมสำรวจพรรณไม้เขาหินปูน

ที่มา : หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF

 

\"ชมพูสิริน\" พืชชนิดใหม่ของโลก หนึ่งในเทียนที่สวยสุดในสยาม