ข่าว

จาก แอมเนสตี้ ถึง"เอ็นจีโอ"ในไทย  บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

จาก แอมเนสตี้ ถึง"เอ็นจีโอ"ในไทย บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

28 พ.ย. 2564

กรุงเทพฯกำลังมีสภาพไม่ต่างกับเจนีวาแห่งใหม่ของตะวันออก โดยเฉพาะ"กลุ่มเอ็นจีโอ" ที่มาตั้งสำนักงานในไทยมากขึ้น นี่เป็นประเด็นชวนพิเคราะห์ผ่านนักวิชาการสายความมั่นคงระหว่างประเทศ ติดตามได้ที่ เจาะประเด็นร้อนสุดสัปดาห์ โดย อสนีบาต

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองน่าสนใจต่อกรณีการออกตัวแรงขององค์กรเอกชน ที่เรียกชื่อตนเองว่า "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล"   ผ่านเครือข่ายในประเทศไทย ด้วยการชูแคมเปญ เปิดตัวแคมเปญ "Write for Rights" หรือ "เขียน เปลี่ยน โลก" หนึ่งในหัวข้อ คือ การกดดันให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดี รุ้ง น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" และแกนนำ "ราษฎร" ซึ่งตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112   

 

ในที่สุดนำมาซึ่ง"ทัวร์ลง" ผ่านสังคมโซเชียลออกวิพากษ์วิจารณ์ "แอมเนสตี้ในไทย"อย่างดุเดือดรุนแรง มีการพาดหัว  "พลาดแล้วบ้าง"  "องค์กรเอ็นจีโอแห่งนี้กำลังแทรกแซงกิจการในประเทศไทยบ้าง"  ถึงกับเกิดการรวมประชาชนออกมารณรงค์ล่ารายชื่อ ขับไล่ แอมเนสตี้ ให้พ้นจากแผ่นดินไทยบ้าง" 

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมารับลูกหลังจากมีกลุ่มประชาชนรวมตัวยื่นหนังสือที่หน้าทำเนียบฯให้ขับไล่แอมเนสตี้ฯ ว่า "แอมเนสตี้มีความผิดอะไรหรือไม่และอยู่ในไทยอย่างถูกต้องหรือเปล่า และถ้าผิดกฏหมายต้องยกเลิก เพราะไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายประเทศไทย"

 

จาก แอมเนสตี้ ถึง\"เอ็นจีโอ\"ในไทย  บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

โดยข้อเท็จจริง แอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรเอกชนที่ตั้งขึ้นมานานแล้ว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษ และขยายเครือข่ายไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกเป้าหมายของแอมเนสตี้ฯ ด้วยวัตถุประสงค์ในการเป็นปากเป็นเสียงเรียกร้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองหรือลัทธิใด ๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น"   

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้างต้นเป็นคำประกาศเจตนารมย์ที่ปรากฎอยู่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

 

ทว่าเมื่อกลับมาดูในส่วนของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในระยะหลังพบว่า  สมาชิกที่เข้ามาทำงานในเอมเนสตี้ฯประเทศไทย ตกเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชนทั่วไป  เนื่องจากมีการนำความเป็นองค์กรฯไปใช้ประโยชน์ในทางผิดแผกแตกต่างจากที่เคยเป็น ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องถูกลดทอนด้อยค่าความสำคัญไปด้วย จึงมิแปลกที่มีประชาชนคนไทยแสดงความไม่พอใจและออกมารวมตัวเรียกร้องขับไล่พ้นแผ่นดินไทย 

 

จาก แอมเนสตี้ ถึง\"เอ็นจีโอ\"ในไทย  บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?

 

นั่นเป็นโจทย์ ที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ ต้องทบทวนบทบาทและเร่งสะสางภายในไม่ให้ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  และกลับมาทำหน้าที่อย่างที่ควรเป็นตามเจตนารมย์ ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้ 

 

นอกจากนี้ บทบาทองค์กรเอกชน ต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ถือเป็นอีกภาพใหญ่ที่สมควรได้มาร่วมกันพิเคราะห์พิจารณา โดยเฉพาะระยะหลังมานี้ มีการเคลื่อนไหวขององค์กรเอกชนต่างชาติอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องจัดระเบียบ

 

...อสนีบาต... ได้รับมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่งผ่าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ได้นำเสนอผ่านบทความ "บทบาทต่างชาติในกรุงเจนีวาตะวันออก?"

.......

 

รศ.ดร.ปณิธาน เริ่มต้นว่า  ในอดีตมักจะพูดกันว่า "Geneva of the East" ก็คือเมืองหางโจว (จีน: 杭州; พินอิน: Hángzhōu) ประเทศจีน เพราะเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพงดงาม มีทะเลสาบขนาดใหญ่ มีภูมิอากาศที่ดี และเป็นศูนย์กลางการค้าการติดต่อกับต่างประเทศมายาวนาน เช่นเดียวกับเมืองเจนีวาต้นตำหรับของประเทศสวิตเซอร์แลนด์


 

 

 

 

 

 

 

 

หลายปีที่ผ่านมา มีคนสังเกตว่ากรุงเทพฯ กำลังจะกลายเป็นเมืองเจนีวาแห่งใหม่ของตะวันออก โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการทูตและการต่างประเทศ เพราะองค์การระหว่างประเทศ (International Organization - IGO) องค์กรสากล ตลอดจนองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร (Non-Governmental Oganization - NGO) ได้ย้ายเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยมากขึ้น ซึ่งก็รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN) เช่น UNHCR หรือองค์การสากลอื่นๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) เป็นต้น

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร  อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ มีสำนักงานต่างๆ ภายใต้กำกับหรือเกี่ยวข้องกับ UN เกือบ 50 แห่ง ไม่นับรวมสำนักงานขององค์การสากลและองค์กรต่างชาติอื่นๆ อีกนับร้อยแห่ง

 

บางแห่งก็ยังมีสำนักงานย่อยอยู่ในจังหวัดที่ไกลออกไป เช่น ที่สงขลาของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross - ICRC) เป็นต้น โดยไทยก็ได้มีกฏหมายใหม่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดระเบียบในเรื่องนี้ไปแล้ว

 

ปัจจุบัน ยังมีการพิจารณาเพื่อออกกฏหมายเพิ่มเติมในส่วนของการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือรายได้อีกด้วย ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ากฏเกณฑ์หรือกติกาที่จะออกมานั้น เหมาะสมหรือเป็นประโยชน์อย่างไร (รวมทั้งเรื่องที่จะต้องรายงานทางการเงินด้วย)

 

โดยทั่วไป ต้องถือว่าการที่ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ไทยเราคุ้นเคยกับต่างชาติมานานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการเข้ามาตั้งสำนักงานเพิ่มขึ้นในปัจจุบันนั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ต่อประเทศไทย และต่อเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคหลายประการ เพราะนอกจากจะทำให้คนไทยมีโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว องค์กรและองค์การต่างชาติเหล่านี้ก็ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราและของเพื่อนบ้านด้วย

 

โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ด้านแรงงาน ด้านสิทธิพื้นฐานต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้หน่วยงานของไทยและของเพื่อนบ้านตื่นตัวมากขึ้นด้วย

 

การทำงานของต่างชาติในไทยส่วนใหญ่ เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศและองค์กรสากลเหล่านี้ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงสากล ปฏิบัติตามกฏหมายของไทย และมีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยโดยทั่วไป ทั้งนี้ ในการเข้ามาทำงานนั้น จะต้องเริ่มด้วยการขออนุญาตทำงานหรือตั้งสำนักงานจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยก่อน หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องดำเนินงานตามกฏระเบียบและข้อตกลงต่างๆ รวมทั้งส่งแผนงานการดำเนินการของสำนักงานให้เราทราบ

 

โดยจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการทำงาน ในบางกรณีก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากทางการไทยได้ด้วย เช่น ด้านงบประมาณ ด้านข้อมูล ด้านบุคลากร ด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปในพื้นที่ เช่น พื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่สามจังหวัดทางตอนใต้นั้น ก็จะต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานของเราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย

 

แต่หลายปีที่ผ่านมา มีข้อสังเกตเกิดขึ้นว่า บางส่วนซึ่งก็เป็นส่วนน้อย ไม่ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยเท่าที่ควรจะเป็น เช่น ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่ได้จัดตั้งและบริหารสำนักงานให้เรียบร้อย ไม่ได้มีหรือส่งแผนการดำเนินการของตนเอง โดยมักอ้างว่าแผนการดำเนินการของตนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก หรือเข้าไปในพื้นที่ต่างๆโดยไม่แจ้ง หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ ทั้งทางกฎหมายและระเบียบพิธีการทางการทูต

 

หากข้อสังเกตเหล่านี้เป็นจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรีบพิจารณาแก้ไขในส่วนที่บกพร่องหรือเป็นปัญหาโดยเร็ว และดำเนินการใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฏหมายและแนวปฏิบัติที่เราประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในการทำงานกับต่างชาติ

 

การที่เราจะเป็นเมืองเจนีวาทางตะวันออกหรือไม่ หรือการที่ต่างชาติจะย้ายสำนักงานอะไรเข้ามาในประเทศของเราหรือจะออกไปเมื่อไรนั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทุกภาคส่วนจะทำงานร่วมกันกับต่างชาติที่อยู่ในบ้านเราในขณะนี้ให้เหมาะสมตามกติกาได้อย่างไร โดยตั้งมั่นอยู่กับผลประโยชน์ของคนไทยและของประเทศไทยเป็นสำคัญ

 

(ดูรายชื่อองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ที่: https://en.wikipedia.org/.../List_of_international...)