ข่าว

เตือนอีก จ้าง "แรงงานต่างด้าว" รีบยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน

เตือนอีก จ้าง "แรงงานต่างด้าว" รีบยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน

28 พ.ย. 2564

รมว.สุชาติ เตือนนายจ้าง สถานประกอบการ ยื่นขออนุญาตทำงานแทนแรงงานต่างด้าว ภายใน 7 วัน หลังรับแบบบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวจากเจ้าหน้าที่ หากพ้น 7 วัน ไม่ดำเนินการมีโทษทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้ เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ หากตรวจพบแรงงานข้ามชาติ ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะทำแบบบันทึกข้อมูล และให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันนั้น 

เตือนอีก จ้าง \"แรงงานต่างด้าว\" รีบยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 – 26 พ.ย. 64 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบและบันทึกข้อมูลคนต่างด้าว แล้ว 157,887 ราย นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 51,697 ราย คิดเป็น 32.74 % ซึ่งตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64 กำหนดอย่างชัดเจนให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับแบบบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวจาก เจ้าหน้าที่แล้วดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน

มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ


ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสถานประกอบฯ จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 64 ตามระยะเวลา 30 วันที่ได้กำหนดไว้ในมติครม. วันที่ 28 ก.ย. 64 ขอย้ำให้นายจ้างดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทน คนต่างด้าว (แบบ บต.50) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ ภายใน 7 วัน

 

หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะทำให้แรงงานข้ามชาติ มีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งนายจ้างที่รับคนต่างด้าว เข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี

ส่วนคนต่างด้าว ที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานแล้ว ให้ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 31 มีนาคม 2565 ยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

กำหนด ภายใน 1 สิงหาคม 2565 และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัดหรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด

 

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ