ข่าว

ก.แรงงาน ยกระดับ ทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ ขับเคลื่อน "เศรษฐกิจชุมชน"

ก.แรงงาน ยกระดับ ทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ ขับเคลื่อน "เศรษฐกิจชุมชน"

28 พ.ย. 2564

กระทรวงแรงงาน ฝึกทักษะทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ เพื่อต่อยอดและสนับสนุนการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกระดับรายได้ "เศรษฐกิจชุมชน" สอดรับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) พัฒนาให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชน สอดรับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) ฝึกอบรมหลักสูตร "การทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล ควบคู่ไปกับการขายสินค้าออนไลน์" ต่อยอดการสร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเกาะสีชัง 

 

นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง และมอบเรือไฟเบอร์กลาส จำนวน 2 ลำ ให้แก่ศูนย์เรียนรู้ฯ และมอบวุฒิบัตร ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล จำนวน 20 คน พร้อมทั้งมอบโอวาทแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม และเยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตร การขายสินค้าออนไลน์ ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี 

ก.แรงงาน ยกระดับ ทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ ขับเคลื่อน \"เศรษฐกิจชุมชน\"

โดยนายสุชาติ กล่าวว่า "สืบเนื่องจากผมและผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายและตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เน้นใช้วิธีการใหม่ เพื่อใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น โดยกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล เพื่อต่อยอดและสนับสนุนการประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับ โมเดลใหม่ “BCG” ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทั้งนี้ 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG  คือ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น ให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ “ทำน้อยได้มาก”

ก.แรงงาน ยกระดับ ทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ ขับเคลื่อน \"เศรษฐกิจชุมชน\"

จึงมอบหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรการฝึกอาชีพ สาขาการทำกระชังเลี้ยงปลาในทะเล และขายสินค้าออนไลน์โดยนำร่องการฝึกอบรม ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี สำหรับการฝึกอบรมที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างในอีกหลายโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค โดยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการแข่งขัน มีความเสมอภาคทางสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้" 

ก.แรงงาน ยกระดับ ทำกระชังปลาทะเล ควบขายออนไลน์ ขับเคลื่อน \"เศรษฐกิจชุมชน\"

นายประทีป ทรงลำยอง  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โครงการฝึกอาชีพแรงงานนอกระบบเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ ซึ่งดำเนินการโดย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เป้าหมาย 400 คน เป็นประชาชนทั่วไปและแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยจัดฝึกอบรม จำนวน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาในทะเลและขายสินค้าออนไลน์ จำนวน 20 คน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์และขายสินค้าออนไลน์ จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 15 – 19 พฤศจิกายน 2564 ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลาเก๋า โดยเลี้ยงในแพปลาขนาด 2.5 x 2.5 เมตร ซึ่งใน 1 แพปลา จะมี 4 หลุม ซึ่ง 1 หลุม เลี้ยงได้ 500 ตัว ใช้เวลาการเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือน ซึ่งขนาดปลาพร้อมจำหน่าย 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 800 – 1,000 กรัม ราคากิโลกรัมละ 200 – 250 บาท ดังนั้น 1 หลุม สามารถจำหน่ายได้เป็นเงินประมาณ 80,000 – 100,000 บาท และ 1 แพ สามารถจำหน่ายได้ 320,000 – 400,000 บาท ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

การเลี้ยงปลาในกระชัง ต้องใช้ทักษะ ความรู้ และความชำนาญไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากความสำคัญจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการประกอบอาชีพนี้ อาทิ ความเหมาะสมของสถานที่ อุปกรณ์ สภาพน้ำทะเล อุณหภูมิ โรคที่มีสาเหตุมาจากปรสิต ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส แต่หากผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และได้ฝึกปฏิบัติก็จะสามารถประกอบอาชีพ และสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ซึ่งอาชีพเลี้ยงปลา และการแปรรูปจำหน่ายสินค้าออนไลน์ควบคู่กันไปจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่าย สร้างมูลค่าทางอาชีพให้เพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว สามารถตอบโจทย์การพัฒนาแรงงานในเศรษฐกิจฐานรากและสอดรับกับเศรษฐกิจชีวภาพได้ในอนาคตอันใกล้