นครศรีธรรมราช สั่งเฝ้าระวังฝนตกหนัก บางคลอง ยก "ธงเหลือง" แล้ว
สั่งยกธงเหลืองในคลองสายต่างๆ ทั้ง 5 สาย เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้า ระวังติดตามสถานการณ์ รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมยกของขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย
กรณีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด (29 พ.ย.64 )นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งทุกหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วออกเฝ้าระวังจุดเสี่ยงและพร้อมปฏิบัติงานที่ทันที่มีสถานการณ์
หลังมีรายงานฝนตกหนักต่อเนื่องในเกือบทุกพื้นที่ร่วม 10 ชั่วโมง และมีน้ำรอระบายเอ่อเข้าท่วมขังผิวจราจรในหลายจุด ทั้งในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่อำเภอรอบนอก โดยมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษในจุดเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยงที่ราบเชิงเขา และการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้สั่งยกธงเหลืองในคลองสายต่างๆ ทั้ง 5 สาย เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้า ระวังติดตามสถานการณ์ รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมยกของขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย
ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาพรวมในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช การระบายน้ำไม่คล่องตัวเนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ส่งผลให้มีน้ำเอ่อเข้าท่วมผิวการจราจรในหลายเส้นทาง โดยทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้นำป้ายเตือนมาวางหน้าปากซอยและในเส้นทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้รับทราบและหลีกเลี่ยงเส้นทาง
นายสายัน กิจมะโน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สรุปสถานการณ์ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2564 (เวลา 08.30 น.) ปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องในพื้นที่นครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบทำให้มีบางพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก อุทกภัย และวาตภัย จำนวน 14 อำเภอ 34 ตำบล 100 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 1,047 ครัวเรือน 3,135 คน ส่วนสถานการณ์ทั่วไป
ในภาพรวมทั้งจังหวัด ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ระดับน้ำในลำน้ำสายต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางพื้นที่ หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่คาดการณ์ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ชุมชนลุ่มต่ำรอบคลองธรรมชาติบางจุดคลี่คลายลง และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้หน่วยงานในพื้นที่เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
เบื้องต้นความเสียหายด้านการเกษตร (ตั้งแต่วันที่ 10-28 พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา 15.30น.)
ด้านพืช มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 11,957 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 122,643 ไร่ พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 7,992 ไร่ ,ด้านปศุสัตว์ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 817 ราย สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย 105,663 ตัว แปลงหญ้า 3 ไร่ สัตว์ตาย/สูญหาย 2 ตัว และยังไม่มีการอพยพสัตว์ ส่วนด้านประมงอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
อย่างไรก็ตามในส่วนของการสนับสนุนด้านทรัพยากรสาธารณภัย ทางกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว 41 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 32 เครื่องและเครื่อง Hydro Floe 6 เครื่อง พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำหรับช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนอาจส่งผลให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพลดลง
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี สนับสนุนรถยกสูงขนย้าย ผู้ประสบภัย 1 คัน เรือท้องแบน 1 ลำ เครื่องยนต์เรือ จำนวน 1 เครื่อง แก่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งใหญ่ สาขาพิปูน และสาขาสิชล
และสนับสนุนรถ Ecavator จำนวน 1 คัน รถลากจูง จำนวน 1 คัน แก่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาสิชล รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต สนับสนุนรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 2 คัน เรือท้องแบน จำนวน 6 ลำ แก่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพ/ข่าว กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครศรีธรรมราช