
สุดสงสาร ช้างน้อยถูกบ่วงพรานรัดขา อีกข้างถูกยิง 7 รู เจ็บหนัก ฝูงทิ้ง (คลิป)
ลูกช้างป่าเขาสิบห้าชั้นอายุแค่ 2 เดือน ติดบ่วงพรานรัดขาเกือบขาด แถมเจอรอยปริศนาอีก 7 รู เจ้าหน้าที่ป่าไม้และสัตว์แพทย์เข้าช่วยรักษา ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว แต่ต้องตัดขา
จากกรณีเหตุการณ์มีชาวบ้านพบลูกช้างป่า อายุประมาณ 2-3 เดือน ติดกับดักถูกบ่วงเชือกพรานรัดขาได้รับบาดเจ็บ อยู่ในคูกันช้าง บริเวณบ้านคลองยายไท หมู่ 18 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จึงแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือ ล่าสุดสัตว์แพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้การช่วยเหลือรักษาลูกช้างเบื้องต้น พร้อมเคลื่อนย้ายมายังหน่วยพิทักษ์อุทยานเขาหินขวาก อ.แก่งหางแมว
สัตวแพทย์หญิง สุนิตา วิงวอน สัตว์แพทย์ปฏิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยกับคมชัดลึก ว่า ดูภาพรวมจากภายนอกลูกช้างอาการปลอดภัยแล้ว ส่วนขาหน้าขวาที่ถูกบ่วงรัด มีการติดเชื้อและมีหนองเล็กน้อย ที่น่าเป็นห่วงคือข้อเท้าที่เกือบขาด เหลือเพียงกระดูกอ่อนแค่เล็กน้อย ขณะนี้ต้องควบคุมการติดเชื้อ ฉีดยาลดไข้ ลดการอักเสบ แต่สุดท้ายก็ต้องตัดข้อเท้าข้างขวาทิ้งกลายเป็นช้างพิการแน่นอน เพราะขาไม่สามารถกลับมาใช้งานได้แล้ว จากนั้นในอนาคตก็ต้องใส่ขาเทียม ซึ่งต้องเปลี่ยนเรื่อย ๆ เนื่องจากยังเป็นลูกช้างที่ต้องเติบโตและน้ำหนักเพิ่มตลอด แต่ถ้าไม่ใส่ขาเทียมเขาจะลงน้ำหนักขาข้างที่เหลือ
สำหรับแผล 7 รูที่ขาหน้าซ้าย สัตวแพทย์หญิง สุนิตา กล่าวว่า ไม่ขอฟันธงว่าถูกยิงหรือ อาจเป็นแผลกิ่งไม้แทงหรือสาเหตุอื่น ขณะนี้กำลังรอเครื่องเอ็กซ์เรย์ ที่จะนำมาเอ็กซ์เรย์ดูขาที่ถูกรัด ก็อาจใช้ดูขาซ้ายเพื่อตรวจหาสาเหตุด้วย แต่เบื้องต้นลูกช้างยังลงน้ำหนักที่ขาหน้าซ้ายได้ มีน้ำเลือดปนนิดหน่อยที่บาดแผล
สัตวแพทย์หญิง สุนิตา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ลูกช้างน้อยยังไม่คุ้นชินกับจุกนมที่ต้องป้อนจากขวด ทำให้กินนมได้น้อย จึงต้องเพิ่มความถี่ในการป้อนน้ำ รวมทั้งเพิ่มน้ำให้กินมากขึ้น โดยผสมแร่ธาตุลงไปในน้ำด้วย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและน้ำตาลในเลือดต่ำ อีก 2-3 วันเมื่อลูกช้างคุ้นชิน สามารถกินนมได้มากขึ้น แข็งแรงขึ้น จึงจะพิจารณาขั้นตอนรักษาอื่น ๆ รวมทั้งการตัดขา
เมื่อถามว่า ภายหลังรักษาอาการบาดเจ็บแล้ว ลูกช้างตัวนี้จะสามารถกลับไปยังฝูงเดิมได้หรือไม่ สัตวแพทย์หญิง สุนิตา กล่าวว่า หลายกรณีที่มีลูกช้างหลงฝูง แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์และมีกลิ่นคนติดตัวไปแล้ว ก็ยังสามารถกลับเข้าฝูงได้ แต่ลูกช้างตัวนี้ไม่สามารถกลับไปยังฝูงเดิมได้แล้ว เพราะต้องใช้เวลารักษานาน และไม่เพียงกลิ่นมนุษย์ที่ติดตัว ตามธรรมชาติสัตว์ที่เป็นภาระของฝูงจะถูกทิ้งอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าลูกช้างตัวนี้ก็ถูกทิ้งไว้เพราะฝูงเห็นว่ามีอาการบาดเจ็บหนัก