ขีดเส้น 4 เดือน ปิด"คดีรถหรู" DSI เชื่อจับผู้กระทำความผิดได้
DSI เผย "คดีรถหรู"อยู่ในความรับผิดชอบ 854 คัน ขีดเส้น 4 เดือน ปิดคดี เชื่อสามารถแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้นำเข้าได้
ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินคดีพิเศษ กรณี รถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี (กรณีรถหรู)
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI มอบหมายให้ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองประธานคณะทำงาน ดำเนินการประชุมขับเคลื่อนขับการดำเนินคดีพิเศษ เกี่ยวกับรถยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี (กรณีรถหรู) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ และทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวว่า ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กำชับให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งดำเนินการกรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับรถยนต์ที่ส่งออกจากต่างประเทศ และนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี (คดีรถหรู) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในวันนี้จึงได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินคดีพิเศษ กรณีรถหรูในส่วนที่รับผิดชอบ จำนวน 854 คัน โดยได้กำหนดให้คณะผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการทำคดีดังกล่าว ซึ่งภายใน 4 เดือน คาดว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้นำเข้าได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวเตือน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กรณีไลฟ์เฟซบุ๊กระบุว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทุจริตคอรัปชั่นใน"คดีรถหรู" ว่าต้อง"รับผิดชอบคำพูด"ของตัวเองด้วย และหากมีข้อมูลการทุจริต สามารถยื่นร้องเรียนมาได้เลย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถูกพาดพิงได้ชี้แจงไปยังอธิบดีดีเอสไอแล้ว