"จับครูใส่คอมพ์" การเรียนการสอนยุคใหม่ ตัวเร่งทำให้ ครูเตรียมตกงาน
การเรียนยุคใหม่ที่ไม่มีครู มีพี่ มีเพื่อน ที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถ เสมือน "จับครูใส่คอมพ์" มาถ่ายทอดเนื้อหาและความรู้ให้กับผู้เรียน ในรูปแบบสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอ,CAI, เกมส์ หลากหลายรูปแบบ เหล่านี้เป็นตัวเร่งทำให้ ครูเตรียมตกงาน หรือไม่
“จับครูใส่คอมพ์” รองรับโลกยุคดิจิทัจ หลายสำนักพิมพ์ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่า ต่างพร้อมใจกันพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในยุคโควิด ในรูปแบบออนไลน์ ที่เป็นการผสมผสานของสื่อยุคใหม่ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน อย่างลงตัว สะดวก ราคาถูก เข้าใจง่าย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
หลังจากมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป ผู้คนอาศัยอยู่กับบ้านมากขึ้น การเดินทางน้อยลง ในเวลาเดียวกันเทคโนโลยีการสื่อสารก็เข้ามาแทนที่การเดินทาง ถ้าเป็นสมัยโบราณก็อาจจะเรียกได้ว่า มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่องหน หายตัว ไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
สถานการณ์ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว แม้แต่รูปแบบการเรียนการสอน ครูกับนักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ห้องเรียนอยู่ทุกที่ ทุกเวลา
เวลาในการเรียนก็เปลี่ยนไป เรียนเวลาไหนก็ได้ เนื้อหาที่ต้องการเรียนก็เลือกได้ ครูผู้สอนก็ยังเลือกได้ เมื่อเรียนแล้วไม่เข้าใจก็สามารถเรียนซ้ำได้ สงสัยถามได้ทุกเวลา โดยที่ครูที่สอนไม่บ่น ไม่ตำหนิ จะแย่หน่อยก็เพียงแค่เป็นบทเรียนเดิม คำพูดเดิม เท่านั้นเอง
การเรียนยุคใหม่ ที่ไม่มีครู มีพี่ มีเพื่อน ที่เก่ง มีความรู้ ความสามารถ มาถ่ายทอดเนื้อหาและความรู้ให้กับผู้เรียน ในรูปแบบสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอ,CAI หรือโปรแกรมช่วยสอน สื่อสำเร็จรูป เกมส์ หลากหลายรูปแบบ ทำให้ไม่เกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้เรียน
ที่สำคัญยังมีบริการแบบครบวงจร บันทึกสรุปเนื้อหา สามารถโหลดแล้วนำไปปริ้นมาอ่านเพิ่มเติมได้ ทำให้นักเรียนไม่ต้องคอยจด จึงตั้งใจเรียนได้อย่างเต็มที่ ในระหว่างเรียน
มองย้อนกับไปที่หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 2 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันในการแก้ปัญหา การจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีแต่บ่นเหมือนท่องจำ ทำซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
แถมยังขยันให้ครูส่งรายงาน ขยันตรวจราชการ ขยันประชุมไม่ว่าจะออนไลน์หรือออนไซด์ ในขณะที่ครูมีปัญหาจะนำเสนอก็ถูกตำหนิ ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่ยอมรับฟังใคร ชอบสั่ง ชอบวางอำนาจ แต่ไม่ชอบติดตามผล
ในขณะที่ภาคเอกชนหลายรายพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนกันไปไกลมาก ชนิดที่เรียกได้ว่า เจ้าภาพหลักในการจัดการศึกษาตามไม่ทัน เมื่อหน่วยงานหลักยังหลงอยู่กับการปรับปรุงหลักสูตร การปรับปรุงพัฒนาตำแหน่ง การวิ่งเต้นเส้นสาย การช่วงชิงตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน
ที่สำคัญกลับมีความเข้าใจว่า “งานประชาสัมพันธ์” เป็นงานหลักขององค์ที่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ดีได้ ยอมเสียเงินจำนวนไม่น้อยกับการพีอาร์แต่ปนักเรียนไม่ได้ประโยชน์อะไร
การจะโฆษณาอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือหน่วยงาน มันต้องมีตัวสินค้าหรือผลงานก่อน ถึงจะสามารถทำได้ ถ้าไม่อะไรแล้วมาโฆษณาเขาเรียกว่า “โฆษณาชวนเชื่อ”
หากหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา อย่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ยังมีแนวคิดที่ล้าหลังเช่นนี้ เมื่อถึงเวลาที่สามารถสร้าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) มาสอนแทนครูได้ เมื่อถึงเวลานั้นจะเป็นเวลาที่ “ครูตกงาน”
ชัยวัฒน์ ปานนิล เรียบเรียง