ข่าว

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมขบวนการ "ล้มล้างการปกครองฯ" ฉบับเต็ม

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมขบวนการ "ล้มล้างการปกครองฯ" ฉบับเต็ม

29 พ.ย. 2564

ต้องอ่าน ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม ปม 3 แกนนำ รุ้ง-ไมค์ -อานนท์ และเครือข่ายขบวนการเข้าข่าย "ล้มล้างการปกครองฯ" เผยข้อมูลหน่วยงานข่าวกรองติดตามตรวจสอบพร้อมคำชี้แจงของแกนนำละเอียดยิบ

 

ในที่สุดราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)  ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564  ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 138 ตอน 80 ก

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมขบวนการ \"ล้มล้างการปกครองฯ\" ฉบับเต็ม

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64  ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยว่า การ กระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) เป็นการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

 

การกระทำผู้ถูกร้องเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง มีการกระทำเป็นขบวนการ บ่อนเซาะทำลายระบอบปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

 

"การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสาม  เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสามและกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการต่อไปด้วย "

 

คำวินิจฉัยดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 เสียง ประกอบด้วย 1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ  3. นายปัญญา อุดชาชน 4. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 5.นายวิรุฬห์  แสงเทียน 6. นายจิรนิติ หะวานนท์  7. นายนภดล เทพพิทักษ์ 8.นายบรรจงศักดิ์  วงศ์ปราชญ์  สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 

 

 

สำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ระบุไว้ตอนท้ายว่า  การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทําของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คํานึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ใช้เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของบุคคล จนถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่าการกระทําของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง

 

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมขบวนการ \"ล้มล้างการปกครองฯ\" ฉบับเต็ม

 

บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีส่วนจุดประกายโดยการปราศรัยปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง ในบ้านเมือง ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทําลายหลักการความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลของการกระทําของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นําไปสู่การล้มล้างระบอบ ประชาธิปไตยในที่สุด

 

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทําลาย พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ําเงินซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง ๑๐ ประการ ของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓

 

เช่น การยกเลิก มาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิก พระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทําให้สถานะ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคําร้อง ผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่าย กระทําการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรธน.ปมขบวนการ \"ล้มล้างการปกครองฯ\" ฉบับเต็ม

 

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอํานาจสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อลบมล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ รวมทั้ง กลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสอง 

 

คลิกอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม >>>

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๖๔ เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ [ระหว่าง นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง นายอานนท์ นำภา ที่ ๑ นายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ ๒ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ ๓ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ ๔ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ที่ ๕ นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพานิช ที่ ๖ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ ๗ นางสาวอาทิตยา พรพรม ที่ ๘ ผู้ถูกร้อง