ข่าว

"ชำนาญ จันทร์เรือง" โพสต์ความเห็น คิดว่าคณะก้าวหน้าไม่แพ้เลือกตั้งอบต.

"ชำนาญ จันทร์เรือง" โพสต์ความเห็น คิดว่าคณะก้าวหน้าไม่แพ้เลือกตั้งอบต.

30 พ.ย. 2564

ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไปแล้ว มีความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งอบต. ที่คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัคร 196 แห่ง แต่ได้รับเลือกตั้ง 38 แห่ง ไม่เป็นการแพ้เลือกตั้ง

 

ภายหลังการเลือกตั้งอบต. มีการนับคะแนนออกมา ปรากฎว่า ผู้สมัครคณะก้าวหน้า ได้รับการเลือกตั้ง เป็นนายกฯอบต.จำนวน 38 แห่ง จากที่ส่งสมัคร 196 แห่งใน 50 จังหวัด ซึ่งคิดเป็น 19.4 เปอร์เซนต์

 

ล่าสุด นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตสส.พรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความ จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน โดยระบุว่า  

 

จากการที่ได้มีการนำเสนอผลการเลือกตั้ง อบต.ของคณะก้าวหน้าในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้มีการพาดหัวและนำเสนอข่าวไปในทางที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้อ่านและทำให้เกิดความสงสัยในจุดยืนของท่านว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปตามจรรยาบรรณของสื่อหรือไม่ เป็นการพาดหัวที่หวังผลทางการเมืองหรือไม่ นั้น
 

ผมทราบดีว่าตั้งแต่มีการเลือกตั้ง อบจ., เทศบาล และล่าสุดคือ อบต. ฝ่ายที่ไม่ชอบคณะก้าวหน้าก็จะบอกว่าคณะก้าวหน้าแพ้ แต่สำหรับผมและคณะฯที่ทำงานการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก คิดว่าเราไม่แพ้

 

เพราะ หนึ่ง สถิติ ตัวเลข เปอร์เซนต์ ที่เราได้รับไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมล่าสุดคือการเลือกตั้งอบต. ประกาศว่าเป้าหมาย คือ 30 อบต. ชนะมาเกินคาดถึง 38 อบต. แต่กลับบอกว่า ”แพ้ยับ” หรือ”แพ้แลนด์สไลด์” จากที่ส่งทั้งหมด 196 แห่ง คิดเป็นเป็นร้อยละ 19.4 ซึ่งสูงมาก ที่สำคัญนิยามของคำว่าแพ้หรือชนะ แลนด์สไลด์ คืออะไร

 

อ่านเพิ่มเติมคลิก >> เช็คที่นี่ "ผลเลือกตั้งอบต." นายกฯอบต.และสมาชิก 5พันกว่าแห่งทั่วประเทศ

 

เป็นเรื่องธรรมดามากถ้าจะไปจับจ้องหาจาก 196 เขต ที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุน โดยดูเฉพาะในส่วนที่แพ้ แล้วหยิบเอามาขยาย โหมกระพือประโคมข่าว เพื่อให้บรรดากองเชียร์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นความก้าวหน้า ได้สะใจเล่น 

 

ในขณะที่ความสำเร็จของเขตที่ได้รับชัยชนะถึง 38 แห่งนั้นเว้นไว้ไม่พูดถึง ผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่นรู้ดีว่าไม่ง่ายที่การเมืองแบบใหม่ การเมืองที่ไม่ใช้เงินซื้อสิทธิ์ซื้อเสียง ไม่ใช้เครือข่ายอิทธิพล ไม่มีบ้านใหญ่ ใช้เพียงนโยบายและความจริงใจมุ่งมั่นของผู้สมัคร จะสามารถคว้าชัยชนะได้ แต่เรากลับคว้าชัยชนะในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่ง จ.ร้อยเอ็ด ได้มากสุดถึง 8 แห่งรองลงมาคือ จ.อุดรธานี 5 แห่ง, จ. หนองบัวลำภู 5 แห่ง, ศรีสะเกษ 4 แห่ง, มหาสารคาม 3 แห่ง เป็นต้น 

 

สอง วัตถุประสงค์ของการลงท้องถิ่น แน่นอน ส่งลงเลือกตั้ง ก็หวังชนะ แต่เป้าหมายหลักของเรา คือ การทำงานความคิดและการเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น นี่คือ การปักหมุดความคิดแบบใหม่ให้การเมืองท้องถิ่น 

 

ใหม่อะไร 

 

ใหม่แรก กลุ่มสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่น ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกระดับ 

 

ใหม่สอง แข่งกันที่นโยบาย 

 

ใหม่สาม เมื่อมีโอกาส ก็ทำผลงานรูปธรรมให้เห็นภายใน 3-4 เดือน 

เราสามารถทำให้คนหันมาสนใจและให้ความสำคัญการเมืองท้องถิ่นได้ เยาวชนสนใจการเมืองท้องถิ่น อยากกลับบ้านไปลงสมัครในอนาคต 

 

อีกทั้งยังทำให้ผู้สมัครต้องหันมาแข่งกันที่นโยบาย ซึ่งแตกต่างจากในอดีต 

 

เมื่อการเมืองท้องถิ่นน่าสนใจ ทันสมัย มีผลงานจับต้องได้จริงคนก็กลับมามีความหวัง 

 

ไม่ว่าเราได้จำนวนที่นั่งเท่าไรก็ตาม นี่คือชัยชนะสำหรับเราแล้ว เพราะการเมืองท้องถิ่นได้เริ่มต้นแล้ว 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของคณะก้าวหน้าในการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากปัจจัยอย่างนโยบายที่ใช้หาเสียงและการทำงานหนักของผู้สมัครแต่ละคน ยังมีในเรื่องของความสำเร็จในผลงานของ "เทศบาล" ที่คณะก้าวหน้าได้เข้าไปร่วมสนับสนุนผู้บริหารมาแล้วก่อนหน้านี้ 

 

เอาแค่เรื่องเดียวอย่าง "99 วันน้ำประปาดื่มได้" ของ เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ที่วันนี้เชื่อว่าใครต่อใครต่างก็รู้จัก บรรดาแกนนำคณะก้าวหน้าไปพบปะผู้สมัคร ช่วยหาเสียงแห่งหนตำบลใดก็ตาม มีประชาชนเข้ามาถามหา อยากให้มาช่วยเปลี่ยนน้ำประปาสกปรกสีขุ่นข้นของบ้านตัวเองด้วย นี่ย่อมสะท้อนความอยากเปลี่ยนแปลง 

 

กับ 38 แห่งที่ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญกว่าจำนวนและข้อครหาโจมตีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย นั่นคือ การทำผลงานให้ปรากฏขึ้นจริง เปลี่ยนทั้ง 38 อบต. ที่ได้เข้าไปเป็นฝ่ายบริหารให้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามนโยบายที่หาเสียงไว้ 

 

สุดท้ายนี้ ผมขอชื่นชมว่า ในระยะที่ผ่านมาเนชั่น/คมชัดลึก/ผู้จัดการ ได้ปรับตัว เสนอข่าวที่เป็นกลางขึ้นกว่าที่ผ่านมาบ้างแล้ว ผมขอเป็นกำลังใจให้พัฒนาต่อไป รักษาจรรยาบรรณสื่อ เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารครบถ้วนเที่ยงตรง