ข่าว

คลิปแรกบันทึกได้ นาที “หมีขั้วโลก” ไล่ล่ากวางในน้ำก่อนลากขึ้นฝั่ง (คลิป) 

คลิปแรกบันทึกได้ นาที “หมีขั้วโลก” ไล่ล่ากวางในน้ำก่อนลากขึ้นฝั่ง (คลิป) 

30 พ.ย. 2564

นักวิจัยเผยคลิปบันทึกได้ครั้งแรก "หมีขั้วโลก" โจมตีกวางในน้ำ ก่อนลากซากขึ้นมาจัดการบนฝั่ง สะท้อนการปรับตัวภาวะโลกร้อน แต่ความอยู่รอดหลักยังเป็นผืนน้ำแข็ง

 

นักวิทยาศาสตร์โปแลนด์ที่ประจำอยู่บนหมู่เกาะสฟาลบาร์ด (Svalbard) ของนอรเวย์ เผยคลิปที่ชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่บันทึกพฤติกรรม หมีขั้วโลก ขณะว่ายน้ำไล่ล่ากวางเรนเดียร์  โดยมันพยายามกดเหยื่อลงใต้น้ำให้จมน้ำตาย จากนั้น ลากซากขึ้นมากินบนฝั่ง  คลิปนี้บันทึกได้เมื่อเมษายนปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์โปแลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ภาพและรายงานในวาราร  Polar Biology ระบุว่า เคยเห็นหมีขั้วโลกใช้วิธีการแบบเดียวกัน ฆ่ากวางเรนเดียร์มาแล้วสองครั้ง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า นักล่าแห่งขั้วโลกเหนือมีความเชี่ยวชาญในการล่าเหยื่อชนิดนี้แล้ว  กวางเรนเดียร์เร็วกว่าเมื่ออยู่บนบก ผู้ล่าจึงบังคับเหยื่อลงน้ำเพื่อความได้เปรียบ 

 

 

 

หมู่เกาะแห่งนี้เป็นบ้านของหมีขั้วโลกราว 300 ตัว และกวางคาริบู หรือเรนเดียร์ ราว 2 หมื่นตัว ห่างจากขั้วโลกเหนือราว 1,000 กม.  ก่อนปี 2543 นักวิจัยที่ศึกษาสัตว์ชนิดนี้ ไม่เคยพบหลักฐานว่าหมีขั้วโลกล่ากวางเรนเดียร์มาก่อน  แต่นับแต่นั้น พบซากเหยื่อถี่ขึ้น  จึงคาดว่า กวางเรนเดียร์กำลังกลายเป็นอาหารปกติของหมีขั้วโลก เนื่องจากทะเลน้ำแข็งในอาร์คติก หลอมละลายไวขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้หมีขั้วโลกต้องใช้เวลาบนบกนานกว่าเดิม และเมื่อเวลาในการเข้าถึงเหยื่อหลักอย่างแมวน้ำจำกัดลง ก็บังคับให้พวกมันต้องมองหาแหล่งอาหารอุดมพลังงานอื่น ๆ บนบกมากขึ้น ประกอบกับกวางเรนเดียร์บนเกาะมีจำนวนเพิ่ม  นับตั้งแต่มีคำสั่งห้ามล่าในปี ค.ศ. 1925  

 

คลิปแรกบันทึกได้ นาที “หมีขั้วโลก” ไล่ล่ากวางในน้ำก่อนลากขึ้นฝั่ง (คลิป) 

 

กระนั้น นักวิจัยยังไม่สรุปว่านี่เป็นปรากฏการณ์หาได้ยาก เพราะหากหมีขั้วโลกเริ่มล่ากวางเป็นอาหารในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 -1960 ก็ยากจะพบเห็นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งประชากรหมี กวางที่น้อยกว่านี้ และมีคนไม่มาก ขณะที่ปัจจุบัน ทุกคนมีกล้องที่พร้อมจะถ่ายภาพแล้วนำมาแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ 

 

นักวิจัยเชื่อว่าหากแม่หมีรู้วิธีล่ากวางอย่างได้ผล ก็จะถ่ายทอดทักษะดำรงชีวิตสู่ลูก ๆ ของมันในช่วงที่อยู่กับแม่เป็นเวลา 2 ปี และอาจกลายเป็นนักล่ากวางรุ่นต่อไป  แต่ความสำเร็จในการปรับตัวล่ากวางเป็นอาหาร อาจช่วยแค่ระยะสั้น ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากร  หมีขั้วโลกเป็นนักว่ายน้ำทรงพลัง แต่ไม่เร็วไม่ทันกวางหากอยู่บก  อนาคตของผู้ล่าแห่งขั้วโลกยังมืดมนเพราะไม่มีแผ่นน้ำแข็งค้ำจุน  นักวิจัยยังคงคาดว่า ประชากรหมีขั้วโลกในทะเลบาเรนตส์ ที่ครอบคลุมเกาะสฟาลบาร์ด จะสูญหายในศตวรรษนี้