สาวโรงงาน ร้อง "กสม." โดนคดีฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมหน้าทำเนียบเหตุโดนลอยแพ
สาวโรงงานผลิตชุดชั้นในชื่อดัง ร้อง "กสม." ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังชุมนุมเรียกร้องขอความช่วยเหลือรัฐบาล เหตุโดนเจ้าของบริษัทลอยแพพนักงาน
30 พ.ย.2564 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นางจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พร้อมอดีตพนักงาน บริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ไทย โกลบอล จ.สมุทรปราการ ผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง เช่น Victoria's Secret , LBI ฯลฯ ส่งออก ในแถบ เอเชีย ยุโรป อเมริกา เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กสม. โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับเรื่อง
สืบเนื่องจาก แรงงานของโรงงานดังกล่าวถูกดำเนินคดีภายหลังไปร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยจากการที่เจ้าของโรงงานลอยแพลูกจ้างเลิกกิจการ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ต.ค. โดยในวันที่เดินทางไปชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ถนนพิษณุโลก ผู้ชุมนุมต่อแถวยาวไปถึงบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจร 1 ช่องจราจร เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน นำงบกลาง มาจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ให้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 1,300 คน จำนวน 242 ล้านบาท
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำชุดชั้นในทั้งเสื้อชั้นใน กางเกงใน หลากสีผูกเชือกขึงเป็นราวตากผ้าโชว์ที่บริเวณหน้ารั้วทำเนียบรัฐบาลเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนและใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงดัง โดยหันลำโพงเข้ามาทางทำเนียบรัฐบาล รบกวนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดเวลา และขู่ว่าหากไม่ได้รับการเจรจาจนได้ข้อยุติ จะปีนรั้วทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับที่เคยปีนรั้วกระทรวงแรงงานมาแล้ว
ต่อมาวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. คนงานบริลเลียนท์ ฯ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงาน 6 คน ประกอบด้วย 1.นาง จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย 2. นายเซีย จำปาทอง เครือข่ายแรงงานฯ 3. ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานฯ 4. สุธิลา ลืนคำ (เครือข่ายแรงงานฯ) 5. ธิษะณา ชุณหะวัณ (ประชาชน) และ 6. ณวิบูล ชมพู่ (ประชาชน)
ทั้งหมดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สน.นางเลิ้ง ฐาน "ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คนในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9"พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอีนเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยฯ โดยผู้ถูกกล่าวหา ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อ 16 พ.ย.64
ทั้งการเดินทางมาร้องเรียนของลูกจ้างในวันดังกล่าว มีการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน และการชุมนุม เป็นการเรียกร้องจากการถูกละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้าง และชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่สถานที่แออัดอากาศถ่ายเทสะดวก อีกทั้งช่วงที่ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกันมานานกว่า 6 เดือน และยังชุมนุมด้วยความสงบ ดังนั้นการดำเนินดคีกับผู้ชุมนุม ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการเสนอข้อร้องทุกข์
ซึ่ง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ เห็นว่าการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่แล้วและได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง ข้อเรียกร้องไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้เวลาผ่านมามากกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม เมื่อลูกจ้างไปติดตามข้อเรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับแจ้งข้อกล่าวหาลูกจ้างอีก
ด้าน น.ส.ศยามล กสม. ระบุว่า ได้พยามยามประสานการทำงานด้วยการติดต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน เบื้องต้นยังติดต่อไม่ได้ และติดต่อพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ที่ทำคดีนี้ ซึ่งจะส่งสำนวนให้อัยการ พิจารณาในวันที่ 8 ธ.ค. ทางตำรวจพนักงานสอบสวนแจ้งว่า ต้องทำตามหน้าที่ แนะนำว่าให้ติดต่อ ผกก.สน.นางเลิ้งที่จะมารับตำแหน่งวันพรุ่งนี้ก่อนจะรับปากผู้ร้องว่าวันรุ่งขึ้นจะประสานให้อีกครั้ง
สำหรับ บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 20 มิ.ย.2562 ตั้งโรงงานผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ มี น.ส.มันซีแองเจล่า เลา และ น.ส.มัน ยิน เอมิลี่ เลา เป็นกรรมการผู้จัดการ และทั้งคู่ยังเป็นผู้บริหารของ Clover Group International Limited ด้วย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง เป็นผู้ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดังระดับโลกเช่น Victoria’s Secret /Torrid/LBI ได้ประกาศปิดโรงงาน ลอยแพ พนักงาน 1,388 คน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานและตามข้อตกลงสภาพการจ้างรวมเป็นจำนวนเงิน 320 ล้านบาท นายจ้างชาวฮ่องกงบินหนีออกจากประเทศไทย ในขณะที่กระทรวงแรงงานบกพร่องในการปล่อยให้นายจ้างเบี้ยวเงินค่าชดเชยลูกจ้าง ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายแรงงานในเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชย และไม่ได้ดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้าง