“อนุทิน” แสดงจุดยืนไทยหนุนทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อต่อสู้กับโควิด-19
“อนุทิน” แสดงจุดยืนประเทศไทยสนับสนุนการมีข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือใหม่ให้ทั่วโลก ตอบโต้กับโรคระบาด โดยเฉพาะโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษวันที่ 2
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลา 10.00 น. ของวันที่ 30 พ.ย. 64 ตามเวลาของนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ เป็นวันที่ 2 โดยการประชุมจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งในวันนี้มีวาระสำคัญอยู่ที่การแสดงจุดยืนของประเทศสมาชิก WHO ต่อการจัดทำสนธิสัญญา (Treaty) หรืออนุสัญญา (Convention) หรือข้อตกลง (agreement) หรือ ตราสารระหว่างประเทศประเภทอื่น (international instrument) ว่าด้วยการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นผู้แทนในการกล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศไทย
นายอนุทิน กล่าวต่อที่ประชุมฯ ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่แบ่งแยกพรมแดน ระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทุกประเทศทั้งร่ำรวยหรือยากจน ต่างได้รับผลกระทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ควรมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและภูมิปัญญาของตนเอง ซึ่งการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจจับและการจัดการเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล เป็นแบบอย่างที่ดีของแอฟริกาใต้ ในไม่ช้าทั่วโลกจะมีความรู้ที่ดีขึ้นในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เพื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แสดงถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างสิ้นเชิง เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ซึ่งแนวคิดใหม่ที่สำคัญที่สุดคือการมีเครื่องมือที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับสากลที่หนักแน่นขึ้น ที่จะทำให้ความสามารถในการตรวจจับ ป้องกัน และตอบโต้โรคระบาดของแต่ละประเทศและทั่วโลก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผ่านหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ บนพื้นฐานของการมีการมีส่วนร่วมทางสังคมและแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล แจ้งว่าในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 ไม่ได้มีการหยิบยกไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ขึ้นมาหารือ ดังนั้น กระแสข่าวที่มีการพูดถึงประเทศไทยจะล็อกดาวน์หากพบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” นั้น ไม่เป็นความจริง และตามที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในช่วงเช้าวันนี้ โดยยืนยันว่าหากมีการพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ในประเทศไทย จะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบโดยทันทีนั้น เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว