ข่าว

ปชป.ดันร่างพ.ร.บ.อาหาร หวังเปิดรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย

ปชป.ดันร่างพ.ร.บ.อาหาร หวังเปิดรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย

01 ธ.ค. 2564

"พิมพ์รพี" หวัง พ.ร.บ.อาหาร จะเป็นประตูหน้าต่าง เปิดรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย - SME ขนาดเล็ก อย่าปิดกั้นโอกาสชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ 

 

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.อาหาร โดยตั้งข้อสังเกตว่าประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนได้อย่างไร ซึ่ง ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยพูดไว้ว่าอยากให้ร่างกฎหมายนี้เป็นประตูหน้าต่าง เป็นโอกาสเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรหลังยุคโควิด ไม่ใช่เป็นกำแพงกีดกันประชาชนออกจากระบบ

 

โดยมองถึงมาตรฐาน อย. ที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและชาวประมงสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสินค้าของเลลันตา เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่เกิดจากชาวประมงรวมตัวกันจัดตั้ง SME ขนาดเล็ก แปรรูปมูลค่าสินค้าประมง ผ่านกระบวนการ อย. ได้มาตรฐาน GMP มาตรฐานคีโต ส่งออกได้ สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างน้อยกิโลกรัมละ 50-100 บาท ในช่วงโควิดนี้ 

 

ดร.พิมพ์รพี อภิปรายต่อว่า พ.ร.บ.อาหาร นี้ทำเหมือนยากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ผู้มีทุนมีความรู้ต่างๆ สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมีบริษัทต่างๆ คอยจดทะเบียนไว้ให้อยู่แล้ว แต่ประมงท้องถิ่นวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ยังขาดโอกาสเข้าสู่ระบบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ จะสามารถเอาปัญหามาพูดคุยเพื่อเปิดโอกาสนี้ให้กับชาวประมง ให้กับเกษตรกรรายเล็กรายน้อยได้บ้าง

 

ยกตัวอย่างเช่น สาหร่ายขนนกที่จังหวัดกระบี่ เมื่อก่อนไม่สามารถส่งออกหรือขายบนโต๊ะอาหารได้ เพราะเก็บจากทะเลมีการปนเปื้อนสารเคมี แต่วันนี้สามารถปลูกได้แล้ว ความสะอาดทานบนโต๊ะอาหารได้ เกษตรกรชาวประมงสามารถเพิ่มรายได้อย่างน้อยเดือนละหมื่นบาทต่อครอบครัว แต่ยังมีปัญหาเรื่องขนส่งไปเมืองนอกหรือการแปรรูป กระบวนการ อย. จะสนับสนุนให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร ไม่ใช่เป็นอุปสรรคที่จะต้องมาขอลิขสิทธิ์ แต่ต้อวคิดว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ารายใหม่ๆ ของประเทศไทย สามารถส่งออกได้ 

 

"อยากให้ อย. และสาธารณสุข ออกพื้นที่และดูปัญหาเกษตรกรเชิงรุก ประเมินผลลัพธ์ความสำเร็จของแต่ละหน่วยแต่ละจังหวัดให้มากขึ้นให้ เช่น ปัญหาสถานที่ประกอบการการขอใบอนุญาต งบประมาณที่จะใส่ลงมา มีต้นแบบให้ได้มาตรฐานให้เร็วขึ้น หรือให้ประกอบธุรกิจโดยทำเป็น Co Working Space ให้หลายๆ หมู่บ้านมาทำด้วยกัน เพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. ไปด้วยกันด้วย และย้ำตามที่ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน เคยพูดว่า ไม่ผ่อนปรนเรื่องความปลอดภัย ต้องผ่อนปรน เปิดการกระบวนการต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด อย่าให้เป็นกำแพงกีดกันการสร้างรายได้คนจนอีกต่อไป" ดร.พิมพ์รพี กล่าว