"ทิดไพรวัลย์" เมื่อครั้งห่มผ้าเหลือง ปัจจัยที่ได้เมื่อสึก ต้องเป็นของใคร?
ดราม่ารายได้ "ทิดไพรวัลย์" สมัยห่มผ้าเหลือง นักวิชาการด้านศาสนา ไขข้อข้องใจ "ทรัพย์สินพระภิกษุ" เมื่อลาสิกขา หรือ มรณภาพแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหมด ตกเป็นของใคร
จากกรณีประเด็นดราม่า มีการเปิดเผยแชท สอบถามค่าใช้จ่ายในการวางผลิตภัณฑ์ขณะไลฟ์สดของ "ทิดไพรวัลย์" ซึ่งเป็นลักษณะ Tie-in ไม่ใช่ราคาสำหรับรีวิว เพราะทางผู้จัดการ "ทิดไพรวัลย์" แจ้งชัดเจนว่า เป็นการวางประกอบฉาก จะมีพูดถึงบ้างแต่ไม่มาก กรณีโดยเรทราคาสำหรับวางผลิตภัณฑ์ไว้เฉย ๆ อยู่ที่ครั้งละ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเหมาทั้งเดือนอยู่ที่ 1 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ทางผู้ปล่อยแชทดังกล่าวออกมาตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า สมัย "ทิดไพรวัลย์" เป็นพระ มีการนำภาพที่แฟนคลับทำให้ไปตีพิมพ์เป็นปฏิทินเพื่อจำหน่าย โดยที่ไม่ได้บอกก่อนว่าจะเอาผลงานเหล่านั้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยระบุเมื่อครั้งที่ "ทิดไพรวัลย์" ยังเป็น "พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ" ออกมาประกาศลาสิกขาว่า ทรัพย์สินของ พส.ที่ได้มาในขณะอยู่ในสมณเพศ ต้องตกเป็นของวัด เมื่อพระรูปนั้นลาสิกขา เว้นแต่จำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนที่จะสละสมณเพศทำให้ "ทิดไพรวัลย์" ออกมาตอบโต้ พร้อมยกข้อกฏหมาย(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ) ระบุว่า มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัด ที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้น จะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม
ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ให้ความรู้กับ "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า ผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของพระภิกษุ ซึ่งถึงแก่มรณภาพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 "ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้น จะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม" มาตรา 1624 "ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้น หาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้"
ส่วน ผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของพระภิกษุ ซึ่งถึงแก่มรณภาพ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 "ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม" มาตรา 1624 "ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้"
ศ.ดร.อุทิส กล่าวว่า กรณี ภิกษุ มรณะภาพ และไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินส่วนตัวของพระที่มรณะภาพ จึงตกเป็นของวัด แต่กรณีสึกแล้ว (ไม่ได้มรณะภาพ) ทรัพย์ส่วนตัว ก็ยังคงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของอดีตพระภิกษุ ส่วนทรัพย์สินที่มี หรือได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ เช่น มีญาติโยมศรัทธาถวายเงินทองให้ ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุอยู่ เพียงแต่หากพระภิกษุมรณภาพ ก็ให้ตกเป็นสมบัติของวัด ที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ (วัดที่จำพรรษา) เว้นแต่พระภิกษุจะได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนมรณภาพยกให้ใคร หรือได้จำหน่ายไปก่อนมรณภาพ ก็จะไม่ตกเป็นของวัด
ข้อควรรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุ
- ทรัพย์สินที่มีก่อนอุปสมบท จะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุ ซึ่งหากมรณภาพก็จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทต่อไป
- ทรัพย์สินที่มีหรือได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศ เช่น มีญาติโยมศรัทธาถวายเงินทองให้ ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุอยู่ เพียงแต่หากพระภิกษุมรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ (วัดที่จำพรรษา) เว้นแต่พระภิกษุจะได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนมรณภาพยกให้ใคร หรือได้จำหน่ายไปก่อนมรณภาพ ก็จะไม่ตกเป็นของวัด
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรับมรดกของพระภิกษุ
- พระภิกษุเป็นผู้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ เพียงแต่จะต้องสึกออกมาเสียก่อน จากนั้นก็มาเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อรู้หรือควรได้รู้ถึงความตาย
- พระภิกษุเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมได้
ส่วนประเด็นความเหมาะสม ในการไลฟ์ เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ คงเรียกว่า "โลกวัชชะ"คือโทษทางโลก อาบัติที่เป็นโทษทางโลก ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ คือ สิ่งที่ภิกษุหรือคนทั่วไปที่ไม่ใช่ภิกษุทำ ก็เป็นความผิดความเสียหายเหมือนกัน