"บัตรทอง" คนพิการรักษาได้ทุกรพ.รัฐไม่เสียค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
"บัตรทอง" ดูแลสิทธิสุขภาพ "คนพิการ" สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องใช้ใบส่งตัวพร้อมตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆ โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์คือ คนพิการร่วมนำการเปลี่ยนแปลง เพื่อการเข้าถึงโดยสะดวก ถ้วนหน้า สู่โลกใหม่หลังโควิด-19 อย่างยั่งยืนเป็นการรณรงค์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพคนพิการ พร้อมสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิ
สปสช.ซึ่งดำเนินงาน "ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือ "บัตรทอง" ได้พัฒนาการบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดูแลคนพิการให้เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานแล้ว ยังได้รับการดูแลภายใต้สิทธิประโยชน์บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ กายภาพบำบัด การประเมินและแก้ไขการพูด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น และการกระตุ้นพัฒนาการ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ อาทิ เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้าขาว อวัยวะเทียม เช่น แขนเทียม ขาเทียม เป็นต้น นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการในการใช้สิทธิบัตรทอง ยังกำหนดให้ผู้พิการสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
นอกจากนี้ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้คนพิการในระบบประกันสังคม มีสิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง โดยผู้ประกันตนคนพิการจะได้รับสิทธิประโยชน์บริการเช่นเดียวกับคนพิการที่อยู่ในระบบ "บัตรทอง"
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมี "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด" เพื่อสนับสนุนส่งเสริมระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรง ซึ่งเป็นการร่วมสมทบงบประมาณดำเนินงานกองทุนระหว่าง สปสช. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขณะนี้มี 58 จังหวัดที่ร่วมจัดตั้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกองทุนฯ ร่วมดูแลคนพิการให้ได้รับการดูแลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อบจ.สกลนครก็เป็นจังหวัดล่าสุดที่ได้เข้าร่วมจัดตั้งองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ซึ่งผมได้เดินทางไปลงนามร่วมกับ ดร.ชูพงศ์ คําจวง นายก อบจ.สกลนคร ได้ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้พันธกิจส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการศึกษาของประชาชน รวมทั้งความมุ่งมั่นในการที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการ ในโอกาสวันคนพิการสากลนี้ สปสช.ก็ขอเชิญชวน อบจ.ที่สนใจมาร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ กับ สปสช.เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดร่วมกัน
ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดที่ สปสช. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมจัดตั้ง 58 แห่ง มีดังนี้
เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 8 กองทุน ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, แม่ฮ่องสอน
เขต 2 พิษณุโลก จำนวน 5 กองทุน ได้แก่ พิษณุโลก, สุโขทัย, ตาก, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์
เขต 3 นครสวรรค์ จำนวน 5 กองทุน ได้แก่ นครสวรรค์, ชัยนาท, พิจิตร, อุทัยธานี, กำแพงเพชร
เขต 4 สระบุรี จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ สระบุรี, อยุธยา, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครนายก
เขต 5 ราชบุรี จำนวน 1 กองทุน ได้แก่ ราชบุรี
เขต 6 ระยอง จำนวน 8 กองทุน ได้แก่ ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด, ระยอง, สมุทรปราการ, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา
เขต 7 ขอนแก่น จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม
เขต 8 อุดรธานี จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, สกลนคร
เขต 9 นครราชสีมา จำนวน 4 กองทุน ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์
เขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ อุบลราชธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ
เขต 11 สุราษฎร์ธานี จำนวน 4 กองทุน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต
เขต 12 สงขลา จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ สงขลา, พัทลุง, สตูล, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, ตรัง
'สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. สายด่วน สปสช. 1330 หรือสอบถามผ่านไลน์ สปสช. เพียงแค่แอดไลน์ สปสช. พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso หรือคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อนได้ทันที https://lin.ee/zzn3pU6