กองทุนสื่อฯจับมือKOCCA ดันมิติวัฒนธรรมสู่สื่อสร้างสรรค์ส่งออกระดับโลก
ผู้จัดการกองทุนสื่อ ‘ธนกร ศรีสุขใส’วาดฝันจะเป็น Content Provider ที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศผ่านทุกแพลตฟอร์ม เตรียมจับมือ KOCCA ดันมิติวัฒนธรรมสู่สื่อสร้างสรรค์ส่งออกไปเผยแพร่ผ่าน platform ระดับโลก
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในงานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก้าวสู่ปีที่ 7 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ว่า การให้ทุนประจำปี 2565 คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนธันวาคม 64 นี้ วงเงิน 300 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือประเภททั่วไป 90 ล้านบาท ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ 180 ล้านบาท และประเภทความร่วมมือ 30 ล้านบาท
ในปี 2563 มีการเสนอขอรับทุนกว่า 1,000 โครงการ และในปี 2564 มีจำนวนโครงการที่เสนอขอรับทุนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1,400 โครงการ การประเมินผลงานในปี 2563 อยู่ในเกณฑ์ดีและปี 2564 ก็ดีขึ้น จึงถือว่ากองทุนฯ เดินมาถูกทางและประสบความสำเร็จพอสมควร
นอกจากนี้ กองทุนฯ ตั้งเป้าความฝันที่จะดำเนินการใน 4 เรื่องและมั่นใจว่าฝันจะเป็นจริง ดังนี้
1. กองทุนฯ จะเป็น Content Provider หรือเจ้าของข้อมูลหรือเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่ดีที่สุดและมากที่สุดในประเทศไทย ในทุกรูปแบบและทุกแพลตฟอร์ม
รวมทั้งจะให้บริการในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นองค์กรลักษณะเหมือนกับ KOCCA หรือ The Korea Creative Content Agency ของเกาหลีใต้ที่รวม 5 หน่วยงานมาทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อของเกาหลีใต้ส่งออกไปทั่วโลกหรือ K-pop หรือสินค้าวัฒนธรรมที่เรียกว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ โดยกองทุนกำลังร่วมมือกับ KOCCA เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้หรือร่วมมือกันในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปีหน้าอาจจะมีการผลิตซีรีส์เกี่ยวกับสงครามเกาหลีที่ทหารไทยไปร่วมรบ รวมทั้งจะติดต่อกับฮอลลีวูดและบอลลีวูดเพื่อจะเป็น Content Provider ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย
2. กองทุนฯ จะเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อครบวงจร หรือ Media Learning Center โดยเปิดโอกาสให้กับทุกคนมาเรียนรู้เพื่อการผลิตสื่อ
3. จะสร้างกลไกการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพโดยขณะนี้ได้เริ่มทำโครงการ Media Alert หรือการเตือนว่าเกิดอะไรขึ้นในสื่อ ซึ่งต่อไปอาจจะมีการแจ้งเตือนว่าสัปดาห์นี้สื่อไหนหรือประเด็นใดที่แย่ที่สุด และประเด็นที่ดีที่สุดคืออะไรเพื่อให้สังคมได้นำไปพิจารณาจากสิ่งที่ทางกองทุนฯ แจ้งเตือน
และ 4. กองทุนฯ จะเป็นองค์กรส่งเสริมสื่อที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือในลักษณะ Smart Agency และส่งผลกระทบทางสังคมได้ ยกตัวอย่างเรื่องแหล่งทุนที่มาจาก กสทช.แหล่งเดียว ต่อไปจะมีแหล่งทุนที่หลากหลายขึ้น เช่น กฎหมายเขียนไว้ว่าสามารถมาจากต่างประเทศได้ มาจากการบริจาค รวมทั้งการการระดมทุนเพื่อการพัฒนาสื่อได้ อีกทั้งรูปแบบการให้ทุนจะไม่มีแค่รูปแบบเดียวแต่จะเป็นลักษณะ Co-Sponsors ซึ่งจะมีการแก้ไขระเบียบกองทุนฯ
ดร.ธนกร กล่าวด้วยว่า บทบาทที่ผ่านมาของกองทุนฯ มีทั้งการส่งเสริมการผลิตสื่อ การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้มีสื่อดี ๆ และลดทอนสื่อที่ไม่ดี ซึ่งทางกองทุนฯ ได้ทำไปพอสมควรโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเท่าทันสื่อ สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ ซึ่งในช่วง 6 ปีกว่าที่ผ่านมา (ก่อตั้งปี 2558) ถือว่าทำได้ดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่คนไม่รู้จักคนก็เริ่มรู้จักกองทุนฯ มากขึ้น จากคนไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในการผลิตก็ได้รับโอกาส จากที่คนไม่เห็นผลงานก็เริ่มปรากฎสู่สายตาประชาชนมากขึ้น
"ใน 400 กว่าชิ้นจากที่เริ่มให้ทุนนำร่องตั้งปี 2560 และให้มาเรื่อย ๆ รวมผลงาน 400 กว่าชิ้นซึ่งมีทั้งการรู้เท่าทันสื่อ การเฝ้าระวังสื่อ การตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอม เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ นอกจากนั้นเป็นสื่อเด็กในรูปแบบนิทาน หนังสือ หลักสูตรการเรียน ซึ่งวัดที่ความดังหรือการเข้าถึงไม่ได้ แต่ผลลัพธ์ประสบความสำเร็จพอสมควร นอกจากนั้นมีสารคดีด้านสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก
การเฝ้าระวังสื่อไม่ใช่การจับผิดหรือไปลงโทษ แต่บอกกับสังคมว่ามีการแชร์ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ รวมทั้งเปิดให้สังคมมีส่วนร่วม โดยภาพรวมคือทำให้เกิดสภาพแวดล้อมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดแล้วเจอสิ่งดี ๆ และสร้างสรรค์ ให้มีนิเวศสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มีสื่อที่ไม่ดี
ที่ผ่านมาทางกองทุนฯ ได้พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกองทุนฯ มุ่งหวังว่าจะเกิดสื่อดี ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่บุคคลถ้ารับสื่อดี อยู่ในสื่อที่ดี ครอบครัวอยู่ในสื่อที่ดี ชุมชนอยู่ในสื่อที่ดี ประเทศก็น่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของสื่อที่ดี’ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ระบุ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับกองทุนฯ ได้ใน 4 ระดับ คือ 1. การเปิดรับสื่อที่ทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อได้ ถ้าประชาชนมีความตระหนักรู้ว่าสื่อมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งอาจจะถูกหลอกจากข่าวสารที่ส่งมา การเปิดรับสื่ออย่างมีสติจึงเป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะยั้งเราไว้ก่อนหรือเอ๊ะไว้ก่อน ไม่เชื่อไว้ก่อน และใช้สติในการตรวจสอบโดยการคิดวิเคราะห์แยกแยะแหล่งที่มา ความสมเหตุสมผลว่าจริงหรือไม่ หรือตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การใช้องค์ความรู้ในการแยกแยะได้มากขึ้น เช่น รู้ว่าข่าวปลอมอย่าแชร์ ซึ่งกองทุนฯ มีหลักสูตรอบรมให้
3.เริ่มมีการแจ้งเตือน มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น CoFact, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท. กสทช. และฝ่ายเฝ้าระวังของกองทุนฯ
และ 4. การผลิตสื่อดี ๆ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยตัวเองซึ่งสามารถเขียนโครงการมาขอทุนจากกองทุนฯ ได้ ซึ่งทางกองทุนฯ มีโครงการบ่มเพาะที่เปิดอบรมการเขียนโครงการให้