กสม.ออกแถลงการณ์จี้รัฐปล่อยตัวม็อบจะนะ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ กรณีรัฐบาลสลายการชุมนุมและจับกุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรียกร้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยระบุว่า
ตามที่ปรากฎเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเดินทางจากจังหวัดสงขลาเข้ามาปักหลักชุมนุม ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงดึกของวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล ในการแก้ปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่เคยตกลงกันว่าจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินโครงการนั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความห่วงใย โดยช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นางปรีดา คงแป้น และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุมตัว ณ สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
โดย กสม.เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศ และรัฐธรรมูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กสม.จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้
1. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุมโดยไม่มีเงื่อนไข
2. เร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยเฉพาะในการดำเนินโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยตรง
3. อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์อื่น ๆ ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่
กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย และมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะรับฟังเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และอำนวยให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นสำคัญ