จับตา "เปรมชัย" เข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังเจ็บป่วยหรือไม่
"คดีเสือดำ" ที่สังคมจับตามองมายาวนาน วันนี้ศาลฎีกาสั่งจำคุกจำเลยทั้งหมดโดยไม่รอลงอาญา แต่ภาพที่เสี่ยเปรมชัย ใช้ไม้เท้าปิดตาด้วยผ้าก๊อซ ขณะที่เจ้าตัวก็อายุมาก ทำให้เกิดคำถามว่าคืนนี้เขาจะนอนที่ไหน
หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ในคดีล่าเสือดำ ที่มี นายเปรมชัย กรรณสูตร อดีตประธานกรรมการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ พร้อมพวกรวม 3 คน เป็นจำเลย โดยคงโทษจำคุก นายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน , นายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ จำเลยที่ 2 คงโทษจำคุก 2 ปี 17 เดือน และจำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ นายพราน คงโทษจำคุก 2 ปี 21 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ย ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ส่วนจำเลยที่ 3 คือ นางนที เรียมแสน แม่บ้าน ไม่ได้ยื่นฎีกา มีโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 40,000 บาท รอการลงโทษไว้สองปีตามคำพิพากษาชั้นต้น
เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว นายเปรมชัย และพวก เดินทางไปยังเรือนจำทองผาภูมิทันที
แต่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ด้วยอายุของนายเปรมชัยที่มากถึง 67 ปี ขณะที่วันนี้เดินทางมาฟังคำพิพากษาโดยมีผ้ากอซปิดตาซ้ายไว้ และใช้ไม้เท้าในการพยุงตัวเดิน จึงมีการตั้งข้อสังเกตุว่าจะเป็นสาเหตุให้นายเปรมชัย ขอใช้สิทธิ์รักษาตัวหรือไม่
ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์วันแรกที่ผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบประวัติ ประวัติของผู้ต้องขังจะถูกส่งมาที่เรือนจำ ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ต้องขัง เป็นคนเดียวกัน
2. พิมพ์ลายนิ้วมือ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเรือนจำรับผู้ต้องขังไม่ผิดตัว
3. ถ่ายรูป บางเรือนจำอาจถ่ายรูปผู้ต้องขังในวันแรกที่เข้ามา แต่บางเรือนจำอาจรอทำในวันถัดไป
4. ทำบัญชีฝากของมีค่า เรือนจำจะเก็บของมีค่าทั้งหมดของผู้ต้องขังไว้ และออกใบรับฝากให้ผู้ต้องขังเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรับคืนภายหลัง
5. ตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวที่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าเรือนจำ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะยาเสพติด สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้าเรือนจำได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า สบู่ แปรงและยาสีฟัน เป็นต้น
6. พิจารณาจัดหาที่ๆเหมาะสมที่จะให้ผู้ต้องขังอยู่ โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ใน แดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาส ปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ มีผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะส่งไปพักที่สถานพยาบาลของเรือนจำ
สำหรับกรณีที่ผู้ต้องขังเจ็บป่วย เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะเป็นผู้ดูแลเบื้องต้น หากอาการป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะรายงานผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อพิจารณาส่งตัวออกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก โดยกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังหรือต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน ทางเรือนจำอาจพิจารณาส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อไป
ส่วนการส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่นภายนอกโดยความต้องการของผู้ป่วยหรือญาตินั้นมิอาจทําได้ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่ต้องราชทัณฑ์ การส่งต่อไปยังสถานพยาบาลภายนอกเรือนจําจึง ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรือนจํานั้น โดยมีแนวทางในการพิจารณาดังนี้
1. พิจารณาแต่เฉพาะที่เห็นว่ามีความจําเป็นจริง ๆ เท่านั้น และพิจารณาให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นอันดับแรก เว้นแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วมีความเห็นให้ส่งไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ หรือโรงพยาบาลรัฐอยู่ห่างไกล หากผู้ต้องขังป่วยไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือทุพพลภาพ จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลเอกชนได้ และเมื่อพ้นขีดอันตรายแล้วให้รีบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐโดยเร็ว
2. อธิบดีกรมราชทัณฑ์มอบอานาจให้ผู้บัญชาการเรือนจํา , ผู้อํานวยการทัณฑสถาน/สถานกักกันและสถานกักขัง ซึ่งสังกัดราชการบริหารส่วนกลางปฏิบัติราชการแทน ในการพิจารณาให้ผู้ต้องขังป่วยออกไปตรวจรักษาและ/หรืออยู่พักรักษาตัวยังโรงพยาบาลภายนอกเรือนจําและทัณฑสถาน ตามความเหมาะสมและความจําเป็นแห่งโรค ส่วนเรือนจํา/ทัณฑสถานซึ่งสังกัดราชการบริหาร ส่วนภูมิภาคอธิบดีได้มอบอํานาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการนี้
3. การขออนุญาตย้ายผู้ต้องขังป่วยไปคุมขังยังเรือนจํา/ทัณฑสถานที่มีโรงพยาบาลและแพทย์เฉพาะโรคเพื่อการบําบัดรักษา อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มอบอํานาจให้ผู้อํานวยการกองบริการทางการแพทย์ในการพิจารณาอนุญาต
4. การย้ายผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ป่วยทางจิตให้ดําเนินการเหมือนผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคทางกาย