ข่าว

ปชช.จุก! ขึ้นค่าทางด่วน ซ้ำเติมเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ระบาดหนัก

ปชช.จุก! ขึ้นค่าทางด่วน ซ้ำเติมเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ระบาดหนัก

09 ธ.ค. 2564

ประชาชน ช้ำหนัก กทพ.ประกาศปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เริ่ม 15 ธ.ค.64 ชาวบ้านระบุปรับขึ้นช่วงนี้ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน จึงมองว่าควรปรับลดมากกว่าขึ้นราคา เพราะสร้างมานานแล้ว

จากกรณีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM ปรับขึ้นค่าทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.7 กม. โดยจะมีผลในวันที่ 15 ธ.ค.2564 นี้ โดยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นการปรับทุกๆ 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 ธ.ค.2564 ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานการลงทุนกับ กทพ. และแม้จะมีการปรับขึ้นค่าทางด่วน แต่ทาง BEM มีความห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจึงลดภาระค่าครองชีพโดยการคงอัตราค่าผ่านทางเดิม ด้วยการชำระค่าผ่านทาง ในรูปแบบคูปอง เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2564-15ธ.ค.2565 โดยคูปองดังกล่าวจะจำหน่ายเป็นเล่ม เล่มละ 20 ใบ ซึ่งได้เปิดจำหน่ายคูปอง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564-30 พ.ย.2565

 

สำหรับราคาค่าทางด่วนที่ปรับขึ้น รถ 4 ล้อ จาก 50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 80 บาท เป็น 105 บาท ส่วนรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป ปรับเพิ่มเป็น 150 บาท 

ปชช.จุก! ขึ้นค่าทางด่วน ซ้ำเติมเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ระบาดหนัก

ขณะที่ชาวบ้านเองมองว่าการปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน ในยุคเศรษฐกิจขาลง การหากินยากลำบาก แม้จะมีการเปิดประเทศแล้วก็ตาม

"ผมว่าค่าทางด่วนน่าจะลดมากกว่าขึ้นนะ เพราะสร้างมานานแล้ว ถ้ามาขึ้นช่วงโรคระบาดที่โควิด-19 ที่ยังมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอีก มีผลกระทบกับตนอย่างแน่นอน ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้เราแย่เลย จะขึ้นที โอ้ เจอค่าทางด่วนแพงๆแบบนี้ อย่างเราคงแย่เลยล่ะ"

 

โดยพนักงานบริษัทรับส่งของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่า ทุกวันนี้ค่าทางด่วนก็แพงอยู่แล้ว ในหนึ่งวันที่ต้องขึ้นทางด่วนในการไปส่งสินค้าของบริษัท ต้องผ่านด่านเก็บเงินมากกว่า 4 ด่าน แม้จะมีการเบิกจากบริษัทได้ แต่ต้องมีการสำรองไปก่อน วันหนึ่งตกอยู่ประมาณ 300-400 บาท และต้องนานถึง 10 วันกว่าจะเบิกได้ เมื่อปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน ซึ่งตนเป็นเพียงพนักงานธรรมดา ก็คงรับไม่ไหว เพราะว่า 30% ถือว่าเยอะมาก 

"เพราะการขึ้นทางด่วนเป็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้น ถ้าเราไม่ขึ้น ข้างล่างรถก็ติด ติดยาว ทำให้เราเสียเวลาในการเดินทาง ในการที่จะส่งของแต่ละครั้ง"

เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ ที่ไม่เห็นด้วย เพราะการปรับราคาเยอะเกินไป แม้ตนจะเป็นคนขับแท็กซี่ แต่ผู้โดยสารก็ต้องแบกรับภาระเช่นกันที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพราะหากไปส่งไกลถ้าไม่ขึ้นทางด่วน คนขับแท็กซี่ก็ไม่อยากไป เนื่องจากไม่อยากเสียเวลากับรถติด ผู้บริโภคก็คือพวกเราเองจะไม่รอด เพราะว่าเศรษฐกิจแบบนี้ หากขึ้นค่าทางด่วน ผู้บริโภคคงต้องแบกรับภาระไม่ไหว แต่หากจะให้วิ่งถนนปกติ ทุกคนไม่อยากขึ้นทางด่วน แน่นอนรถติดยาว ทุกวันนี้ติดนานถึง 4 ชม. ก็มี

 

ขณะที่พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องการปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน ประชาชนต้องแย่อย่างแน่นอน หากมาปรับขึ้นราคาในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ที่ผ่านมาการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มีการปรับขึ้นทุกอย่าง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าภาษี ยกเว้นค่าแรง ตนมองว่ารัฐบาลควรชะลอไว้ก่อน ไม่ใช่มาบอกว่าปรับตามกำหนด 5 ปี ก็ต้องปรับ จึงอยากให้เห็นใจประชาชนตาดำๆที่ต้องมาแบกรับภาระบ้าง