ไทยติดอันดับ 50 ประเทศ ระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ดีที่สุดของโลก
ไทยติดอันดับ 50 ประเทศที่มี ระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ดีที่สุดของโลก กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 71 เมืองที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพจาก 1,000 เมืองทั่วโลก "กระทรวงอว." เปิดวาร์ป 4 ฮับแห่งสตาร์ทอัพของประเทศไทย “กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา” แหล่งแจ้งเกิดสตาร์ทอัพระดับโกลบอล
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงสตาร์ทอัพ ที่ผลการจัดอันดับดัชนี ระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพ โลกประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index2021)ที่ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่50
และมีถึง4เมืองที่ติดใน1,000อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด โดยกรุงเทพมหานครสามารถกระโดดขึ้น19อันดับจากอันดับ 90 สู่อันดับที่71
โดยกรุงเทพฯ มีความโดดเด่นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีการค้าปลีก ซึ่งได้อันดับที่33ของโลก เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่397ภูเก็ต อันดับที่442(พุ่งขึ้น428อันดับจากเดิม อันดับที่870)
และสุดท้ายเมืองน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาติดอันดับเป็นปีแรก นั่นคือ พัทยา อยู่ในอันดับที่833
สำหรับปัจจัยหลักในการประเมินของเว็บไซต์ StartupBlink ได้แก่ 1.)ปัจจัยเชิงปริมาณประกอบด้วย จำนวนสตาร์ทอัพ จำนวนโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ (Co-Working Space)จำนวนโปรแกรมเร่งการเติบโต(Accelerator)และจำนวนกิจกรรมพบปะของสตาร์ทอัพ
2.)คุณภาพของสตาร์ทอัพ และสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย จำนวนผู้ใช้งานสตาร์ทอัพ(Traction)จำนวนบริษัท/สาขาของบริษัทที่ดำเนินงานด้านการวิจัยและเทคโนโลยี จำนวนสาขาของบริษัทข้ามชาติ ปริมาณการลงทุน จำนวนลูกจ้าง จำนวนสตาร์ทอัพระดับUnicorns, ExitsและPantheonจำนวนสตาร์ทอัพที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก และจำนวนเหตุการณ์เกี่ยวกับสตาร์ทอัพระดับโลก
3)สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ประกอบด้วย ความสะดวกในการธุรกิจ ความเร็วอินเทอร์เน็ต อิสระในการใช้อินเทอร์เน็ต การลงทุนด้านงานวิจัย ความพร้อมของเทคโนโลยีด้านการบริการ จำนวนผู้ถือสิทธิบัตรต่อประชากรทั้งหมด และความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น“ประเทศแห่งนวัตกรรม”
ที่ผ่านมากระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรม และระบบนิเวศสตาร์ทอัพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคน บ่มเพาะ และพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ การปรับโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าNIAให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการพัฒนาทั้งในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ สร้างเมืองน่าอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและเชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท
ซึ่งหนึ่งในกลไกหลักคือ การพัฒนา “ย่านนวัตกรรม:Innovation District”หรือ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มีการผสมผสานระหว่างสถาบัน โรงเรียน ที่อยู่อาศัย ร้านค้าปลีก และพื้นที่สำนักงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด คือการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดและเทคโนโลยีระหว่างกัน
โดยเมือง4เมืองที่ติดอันดับนั้นNIAก็ได้มีการลงพื้นที่พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพตลอดมากรุงเทพ มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม4แห่ง ได้แก่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) มีโปรแกรมพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรและผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ และผลักดันการลงทุนในย่าน
ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคปุณณวิถี มีกิจกรรมทดลองใช้สินค้าและบริการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ (Bangkok Cybertech sandbox)ทำให้เกิดการร่วมแชร์ข้อมูลและทรัพยากรด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพระหว่างภาครัฐและเอกชน
ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมบนความคิดสร้างสรรค์และดิจิทัลบนฐานอุตสาหกรรมเดิมของย่าน
ย่านนวัตกรรมอารีย์ มุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองโซลูชั่นใหม่ (แซนด์บ็อกซ์) ด้วยเทคโนโลยี เอไอ,หุ่นยนต์ และ ไอโอที ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่เชียงใหม่
มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม2ย่าน ได้แก่ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID)และย่านนวัตกรรมเกษตรอาหารแม่โจ้ อีกทั้งยังมีสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกของNIAและศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub)ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ผู้คนที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในภูเก็ต และพัทยา จะยังไม่มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ แต่ก็มีการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเสมอมา ซึ่งในภูเก็ตมีการจัดกิจกรรมOpen Innovation Road Showภาคใต้ เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมในพื้นที่ มีโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นนวัตกร
และในพัทยา มีโครงการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเอื้อต่อการสร้างทรายเม็ดใหม่ด้านดีพเทค และเชื่อมโยงเครือข่ายเข้ากับองค์กรพันธมิตรในพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรรมและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ
อีกทั้งยังมีย่านนวัตกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ ย่านนวัตกรรมบางแสน(ชลบุรี)ย่านนวัตกรรม ศรีราชา(ชลบุรี) และย่านนวัตกรรมบ้านฉาง(ระยอง)
นอกจาก4เมืองนี้แล้วNIAก็ยังมีย่านนวัตกรรมในพื้นที่อื่น ๆ อีก ได้แก่ย่านนวัตกรรมศรีจันทร์(ขอนแก่น)ย่านนวัตกรรมโคราช(นครราชศรีมา) และย่านนวัตกรรมกิมหยง (สงขลา) รวม12ย่านนวัตกรรมทั่วประเทศไทยครอบคลุมทุกภูมิภาค
“ขณะนี้ประเทศไทยมียูนิคอร์นเกิดขึ้นแล้ว 3 รายNIAยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพต่อไป และหวังว่าในปีหน้าเราจะได้เห็นยูนิคอร์นตัวที่4ตัวที่5และตัวต่อ ๆ ไปของประเทศไทย ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศชาติ และประชาชน”ดร.พันธุ์อาจ กล่าว