ข่าว

ย้อนรอยตำนาน "89 ปีรธน.ไทย" เปิดปูมหลังรัฐธรรมนูญไทยฉบับปฐมบทEP.1

ย้อนรอยตำนาน "89 ปีรธน.ไทย" เปิดปูมหลังรัฐธรรมนูญไทยฉบับปฐมบทEP.1

10 ธ.ค. 2564

EP.1 89ปี รธน. หากวิเคราะห์ถึงการปฏิวัติที่ถูกเรียกว่าปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ติดตามการมองอดีตสู่ปัจจุบันในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา64 ได้ที่นี่

 

ย้อนรอยตำนาน \"89 ปีรธน.ไทย\" เปิดปูมหลังรัฐธรรมนูญไทยฉบับปฐมบทEP.1

 

หมุดทองเหลืองที่ถูกฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า เป็นตำแหน่งที่ "นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา"ได้ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิด "รัฐธรรมนูญ" เพื่อความเจริญของชาติ"

    

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ว่า "คณะราษฎร"ใช้กลลวงนำทหารบกและทหารเรือ ประมาณ 2,000 คน ไปรวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่า เป็นการสวนสนาม

 

นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

   

จากนั้น"นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" จึงอ่านประกาศ คณะราษฎรฉบับที่ 1 ยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อ และเมื่อก่อการสำเร็จ ได้นำไปสู่การตั้งรัฐบาลขึ้นมา จึงถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และมีการประพันธ์เพลงวันชาติ 24 มิถุนา โดย "ครูมนตรี ตราโมท"ไว้ด้วย ถือเป็นภาพจำสำคัญอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

    

หากวิเคราะห์ถึงการปฏิวัติครั้งนั้น ที่ถูกเรียกว่าปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก ซึ่งจะพบความเชื่อมโยงของอดีตที่ย้อนไปถึงสมัย"กบฏ ร.ศ.130" ในรัชสมัยของสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเกิดความพยายามก่อการปฏิวัติโดยกลุ่มนายทหารหนุ่มหัวสมัยใหม่ ที่มองว่า การปกครองของไทยล้าหลังเนื่องจากประเทศใหญ่หลายประเทศ ต่างปรับรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐกันเกือบทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรป อเมริกา และจีน

  

โดยแนวคิดนี้ ได้ฝังรากลึกและส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อไปยัง "คณะราษฎร" แม้การปฏิวัติครั้งแรกในสมัย ร.ศ.130 จะทำไม่สำเร็จ เพราะข้อมูลรั่วไหล จนถูกกวาดล้างจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจ และบทเรียนสำคัญให้นายทหารนักปฏิวัติรุ่นน้อง คือ "คณะราษฎร" จนก่อการได้เป็นผลสำเร็จในอีก 20 ปีต่อมา และได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475"

    

และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศชั่วคราว แต่นัยยะหรือสาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ก็ถือเป็นต้นแบบของการบริหารประเทศโดยให้สิทธิกับประชาชนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยการกำหนดไว้ว่า...

 

"อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตย เป็นของราษฎรทั้งหลาย"

    

ขณะเดียวกันยังกำหนดบทบาทการปกครองที่แม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่า "พระมหากษัตริย์" ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวร และมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์

    

ส่วนเนื้อหาที่ว่าด้วยอำนาจในการบริหาร กำหนดให้ประกอบขึ้นจากหลายฝ่าย ซึ่งการใช้อำนาจสูงสุด จะมีบุคคลและคณะบุคคล เป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล ขณะที่ลักษณะการปกครองและการปฏิบัติราชการต่างๆ ก็จะต้องมีกรรมการราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงจะใช้ได้...แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ถูกใช้อยู่เพียงไม่นาน

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

กระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา และได้ทรงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศประเทศไทยจึงมี "รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2"

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกฯขณะนั้น

 

ย้อนรอยตำนาน \"89 ปีรธน.ไทย\" เปิดปูมหลังรัฐธรรมนูญไทยฉบับปฐมบทEP.1

    

และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ในนามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวน 20 คน โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน แทนผู้บริหารตามรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศชั่วคราว ที่กำหนดให้มีสมาชิก 70 คน ซึ่งแต่งตั้งจากคณะราษฎร 31 คน และจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในระบอบเดิม 39 คน โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และนาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก

    

จากนั้นถัดมาอีก 2 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่พระองค์ได้พระราชทานนั้น ถูกใช้ปกครองประเทศต่อมาเกือบ 14 ปี จนวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลที่ว่า มีเนื้อหาล้าสมัย

    

แต่ก่อนที่จะได้รับการยกเลิกไป ได้มีการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 แก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยนามประเทศ จาก "สยาม" เป็น "ไทย" ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม หรือแปลก ขีตตะสังคะ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ไปด้วย

 

นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม หรือแปลก ขีตตะสังคะ

 

ส่วนครั้งที่ 2 ถูกปรับปรุงเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2483 โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล ซึ่งเสนอโดย "ขุนบุรัสการกิตติคดี" หรือ "นาย เหมือน บุรัสการ" ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ที่มีนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาล ซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2485 เป็นอย่างช้า แต่กลับต้องยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี ซึ่งแก่นแท้ของการเสนอยึดบทเฉพาะกาล ก็คือ การคงอยู่ต่อไปอีกของสมาชิกประเภทที่ 2 อันมาจากการแต่งตั้ง

    

และการแก้เป็นครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ ส.ส.สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่งออกไปอีกคราวละ 2 ปี

    

ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงปูมหลังที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่ถือต้นแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในสมัยแรกหลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่า กฎหมายสูงสุดทั้งสองฉบับ ได้สะท้อนภาพสังคมไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่พยายามคานอำนาจกันเอง ทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายจารีตนิยม โดยที่ประชาชนคนไทยก็ยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานมากนัก

 

>>>>ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์