ย้อนรอยตำนาน "89ปีรธน.ไทย" เหตุการณ์รธน.ใต้ตุ่มแดง ต้นกำเนิด”วุฒิสภา”EP.3
ย้อนรอย…89 ปีรธน.ไทย ในถุงดำ ห้วงหนึ่งในเหตุการณ์กับ รัฐธรรมนูญแห่งราชปี 2490 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ถูกเรียกกันติดปากในสมัยนั้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ "ใต้ตุ่ม" หรือ "ตุ่มแดง" เนื่องจากก่อนหน้านั้น น.อ.กาจ กาจสงคราม หรือ "หลวง กาจสงคราม" มีการซุกร่าง รธน.ไว้ใต้ตุ่ม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ถูกเรียกกันติดปากในสมัยนั้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ "ใต้ตุ่ม" หรือ "ตุ่มแดง" เนื่องจากก่อนหน้านั้น น.อ.กาจ กาจสงคราม หรือ "หลวง กาจสงคราม" รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกร่างเนื้อหาของกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ได้นำเอกสารที่เป็นรายละเอียดของร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำหลังบ้าน เพราะเกรงความจะแตก หากมีใครไปพบ และอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ
โดยเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้เด็ดขาดแล้ว ในตอนค่ำของวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 "นายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์" ซึ่งภายหลังได้ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 22 ของไทย ได้ใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีก 7 ชั่วโมง ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลขอให้ "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร" ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการประกาศใช้แทน"รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3"
โดยคณะรัฐประหาร อ้างไว้ว่า แนวการปกครองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นเหตุให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงได้ แม้จะถูกฝ่ายการเมืองกดดันกันอย่างหนัก แต่พระยามานวราช เสวี(ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์อีกคน ก็ไม่ยอมลงนาม ส่งผลให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผลไม่สมบูรณ์ เนื่องจากคณะผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามไม่ครบ
แต่เพียงชั่วข้ามคืน"รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4"ก็ถูกประกาศใช้เป็นผลสำเร็จในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 โดยมีผู้สำเร็จราชการฯลงพระนามเพียงคนเดียว โดยมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญรวมจำนวน 98 มาตรา และมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว
หากวิเคราะห์ไปถึงส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพบว่า มีหลักการสำคัญคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ค่อนข้างมาก โดยใช้หลักการของ"การปกครองในระบบรัฐสภา"เหมือนกัน คือ มีสองสภาเหมือนกัน ผิดกันแต่ที่สมาชิกของสภาสูง ซึ่งเรียกชื่อใหม่ว่า "วุฒิสภา" เพื่อแทนคำว่า "พฤฒสภา" ที่ได้มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ก็ไม่ห้ามข้าราชการประจำ สามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ มีกำหนดวาระอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แบบรวมเขตจังหวัด คือ ถือเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่มีสมาชิกจำนวนเท่ากันทั้งสองสภา
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้สร้างกลไกในการปกครองเพิ่มขึ้น คือ บัญญัติให้มี”คณะอภิรัฐมนตรี” จำนวน 5 คน ทำหน้าที่ "ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกสาขา" และกำหนดให้อภิรัฐมนตรีเท่านั้น ที่มีสิทธิจะได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เพื่อให้เป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"
นอกจากนี้ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 10 อีกว่า "ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งหรือไม่สามารถจะทรงแต่งตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรี สามารถเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทันที"
และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ แก้ไขได้โดยง่าย อาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภา ทำให้ภายหลังจากที่ประกาศใช้ไม่ถึง 1 ปี จึงถูกแก้ไขเพิ่มเติมถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้ "พระบรมวงศานุวงศ์"สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้
แก้ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2491 แก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น
ส่วนการแก้ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2491 ได้แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีเอกสิทธิ์ และได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีอายุเพียง "1 ปี 4 เดือน 14 วัน" เพราะถูกยกเลิกใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาแทน แต่ก่อนจะมีการยกเลิกไปไม่ถึงเดือน ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกือบพลิกผันครั้งสำคัญ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 "นาย ปรีดี พนมยงค์"อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกรัฐประหาร ได้แอบเดินทางกลับเข้าประเทศ และร่วมกับพรรคพวกกลุ่มหนึ่ง พยายามก่อการยึดอำนาจคืนจาก "จอมพล ป.พิบูลสงคราม"แต่กระทำไม่สำเร็จ "นายปรีดี" จึงต้องหนีกลับไปลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีนอีกครั้ง และถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของไทยในเวลาต่อมาว่าเป็น“กบฏวังหลวง” จึงทำให้ "รัฐธรรมนูญฉบับตุ่มแดง"ที่ประกาศใช้มาแค่ปีเศษ มีรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ถึง 3 คณะ คือ รัฐบาลภายใต้การนำของ "นายควง อภัยวงศ์" 2 สมัย และ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" อีก 1 สมัย เนื่องจากเกิดการคานอำนาจและยึดอำนาจกันของคณะรัฐประหารกับฝ่ายการเมือง ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นมากับมือนั่นเอง
>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์