ข่าว

พบผลวิจัยใหม่ ยาต้านซึมเศร้า "ฟลูโวซามีน" ราคาถูก ลดการเข้า รพ.จาก "โควิด"

พบผลวิจัยใหม่ ยาต้านซึมเศร้า "ฟลูโวซามีน" ราคาถูก ลดการเข้า รพ.จาก "โควิด"

10 ธ.ค. 2564

หมอธีระวัฒน์ โพสต์การศึกษา ชี้ยาต้านอาการซึมเศร้าราคาประหยัด อาจช่วยลดความเสี่ยงการเข้ารพ.เพราะ "โควิด" ได้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์อ้างอิงการศึกษากรณี ยาต้านอาการซึมเศร้า ราคาประหยัด อาจลดความเสี่ยงการเข้าโรงพยายาลเพราะโควิด-19

 

โดยอ้างอิงข้อมูลจาก VOA ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha  

โดยมีใจความว่า การศึกษาล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ได้เปิดเผยว่าการศึกษาครั้งใหม่ซึ่ง พบว่ายาต้านอาการซึมเศร้า ราคาถูกช่วยลดความจำเป็นในการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้

ได้แก่ยาฟลูโวซามีน (Fluvoxamine) มักใช้รักษาภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ โดย ยานี้ช่วยลดการอักเสบได้ และปัญหาสุขภาพมากมายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ล้วนเกิดจากภาวะอักเสบในร่างกายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อมากเกินไป

 

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยได้ศึกษาชาวบราซิลเกือบ 1,500 คนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยร้ายแรง ทำการวิจัยโดยการให้ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งใช้ ยาฟลูโวซามีน ที่บ้านเป็นเวลา 10 วัน ส่วนที่เหลือใช้ยาหลอก และติดตามดูผลการรักษาเป็นเวลาสี่สัปดาห์

โดยนักวิจัยพบว่า 11 % ของผู้ที่ใช้ยาฟลูโวซามีน ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออยู่ในห้องฉุกเฉินเป็นเวลานาน เทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอกซึ่งมีอัตรา 16 %

 

อย่างไรก็ตาม ยาต้านอาการซึมเศร้า มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาโควิด-19 แบบอื่นๆ

 

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ให้ข้อมูลผลการศึกษานี้แก่สถาบัน U.S. National Institutes of Health ซึ่งเผยแพร่แนวทางการรักษา และหวังว่าจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยานี้ได้จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย

ด้าน ดร. เอ็ดเวิร์ด มิลส์  แห่งมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ เมืองออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา หัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้บอกกับผู้สื่อข่าว เอพี ว่า หากองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ใช้ ยาฟลูโวซามีน ก็จะเป็นผลให้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง และว่ายานี้มีใช้อยู่แล้วในหลายๆ ประเทศที่ยากจน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย

 

ขณะที่ดร.พอล แซ็กส์ แห่ง Harvard Medical School และโรงพยาบาล Brigham and Women's Hospital ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้บอกกับ เอพี ว่า ยาฟลูโวซามีนและยาโควิด-19 ของ เมอร์ค มีลักษณะการทำงานแตกต่างกัน แต่อาจจะใช้เสริมกันได้

 

อย่างไรก็ตาม คำถามมากมายยังคงมีอยู่เกี่ยวกับปริมาณของยาต้านอาการซึมเศร้าที่ควรจะใช้ โดยนักวิจัยมีแผนจะศึกษาว่า ยาฟลูโวซามีนสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำได้ด้วยหรือไม่ และควรให้ยานี้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือไม่

ขณะนี้มีโครงการศึกษาซึ่งใหญ่กว่าที่ศึกษายา 8 ชนิดที่มีอยู่ เพื่อดูว่าจะสามารถใช้ต้านโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ และตอนนี้ โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทดสอบยารักษาตับอักเสบ แต่ยาอื่นๆ รวมทั้งเมตฟอร์มิน ไฮดรอกซีคลอโรควิน และไอเวอร์เม็กติน ไม่ได้แสดงผลลัพธ์ที่ดี

รายงานผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Lancet Global Health ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้

 

 

(ที่มา: The Associated Press)