"อัตวินิบาตกรรม" การตายที่ไม่หลุดพ้น
"อัตวินิบาตกรรม" หรือการฆ่าตัวตาย เป็นบาปอันใหญ่หลวง ผู้ที่มีจิตเป็นทุกข์ มักมีความเชื่อว่า การฆ่าตัวตายเป็นทางออกที่จะหลุดพ้นต่อทุกข์ทั้งปวง การฆ่าตัวตายในทัศนะพุทธ หาใช่การหลุดพ้นไม่ แต่หากจะยิ่งทุกข์มากกว่าเดิม
บ่อยครั้งที่เห็นข่าวการฆ่าตัวตาย ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทั้งที่อาจจะมีสาเหตุจากการเจ็บป่วย การทุกข์ทรมานในจิตใจ ความสิ้นหวัง การหาทางออกจากทุกข์ไม่ได้ คนทั่วไปโดยธรรมชาติจะเกรงกลัวต่อความตาย เมื่อรู้ตัวว่าความตายกำลังจะมาถึงจะมีความหวาดหวั่น กลัวตาย จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ แม้สัตว์ทั้งหลายก็ยังดิ้นรนเพื่อหนีความตาย
แต่สำหรับคนที่คิด ฆ่าตัวตายก่อนตายจึงต้องมีจิตที่เป็นทุกข์ จิตจะน้อมไปในทางโทสะอย่างแรงกล้า ทั้งความโกรธ เศร้า หดหู่ หมดหวัง กลัว ความทุกข์ทางใจทั้งหลาย จึงคิดว่าการตายเท่านั้นจะทำให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน
ความตายที่จิตมีแต่โทสะ สภาวะจิตตอนใกล้ตายหรือมรณาสันนวิถี จิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ความทุกข์ที่ครอยงำ ก็จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ไม่ดี คือทุคติภูมิ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ทุคติภูมิที่ว่าก็คงไม่พ้นนรกอย่างแน่นอนเพราะเป็นภพภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับโทสะที่สุด
ดังนั้นผู้ที่คิดสั้นจะยุติปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายนั้น นอกจากจะต้องไปพบกับทุกข์ครั้งใหม่ในนรก ซึ่งเป็นทุกข์ที่รุนแรงกว่าแล้ว ยังเป็นการสร้างทุกข์ สร้างปัญหาให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ต้องรับความทุกข์ที่ไม่ได้ก่ออีกด้วย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า"กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ" ความได้เป็นมนุษย์ เป็นการยาก ดังนั้นในทางพระพุทธศาสนานั้น ชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง พุทธจริยศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าบางสถานการณ์ก็ควรที่จะสละทรัพย์ไปเพื่อรักษาอวัยวะ และสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ เพื่อต้องการให้มนุษย์ทุกคนนั้นฝึกฝนพัฒนาตนเองในอันที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ “พระนิพพาน” อันจะทำ ให้มนุษย์นั้นจะได้ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีก
"การฆ่าตัวตาย เป็น การแสดงความอับจนพ่ายแพ้หมดหนทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว เมื่อฆ่าตัวก็เป็นการทำลายตัว เมื่อทำลายตัวก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกอย่างที่พึงได้ในชีวิต ในบางกลุ่มบางหมู่เห็นว่าการฆ่าตัวตายในบางกรณีเป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์ เรียกผู้ทำว่า คนเปล่า เท่ากับว่าตายเปล่าๆ ควรจะอยู่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ก็หมดโอกาส"
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช