สสส. เผยแพร่สถานการณ์ "สิทธิมนุษยชน" ในไทยปี 64 พบถดถอยไปมาก
สสส.เผยแพร่สถานการณ์ด้าน "สิทธิมนุษยชน" ของไทยปี 64 10 เด่น(ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) พบถดถอยมาก มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง- หลีกเลี่ยงแก้ไข รธน. ปี 2560 ประเด็นไม่เป็น ปชต. ส่วนจุดเด่นเกิดจากจากความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเรื่องต่างๆ
รายงานสถานการณ์ด้าน "สิทธิมนุษยชน" 10 เด่น(ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี พ.ศ.2564 จัดทำโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในรอบปี 2564 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ และเพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของ"สิทธิมนุษยชน"ที่ควรได้รับการเคารพ (Respect) การปกป้องคุ้มครอง (Pretext) และการทำให้เกิดขึ้นจริง (Fulfill) ในสังคมไทย
การจัดทำรายงานฉบับนี้ใช้กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยให้การรับรอง เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยรัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม ย่อมมีทั้งความก้าวหน้าหรือการถดถอย
จากการใช้เกณฑ์ดังกล่าว พบว่าในรอบปี 2564 สถานการณ์ด้าน"สิทธิมนุษยชน"ของประเทศไทยถดถอยไปไกลมาก ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่
วันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 3 มาตรา 25 - 49 ได้ให้หลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม
แต่ประเทศไทยมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งนับเป็นความถดถอยอันดับแรก รายงานระบุ และเมื่อภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อนับแสนคนเสนอให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง แต่ถูกมติของรัฐสภาตีตกไม่รับหลักการทั้ง 2 ครั้ง นับเป็นความถดถอยอันดับที่สอง
นอกจากนี้ยังมีความถดถอยในเรื่องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดจนเสียชีวิต การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2542 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 การไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม
การค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ ความรุนแรงในครอบครัว ร่างกฎหมายการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ.....
รวมทั้งเรื่องที่ไม่มีความคืบหน้า ได้แก่ การยกเลิกโทษประหารชีวิต การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทางซึ่งเสี่ยงกับความตาย ฯลฯ
เมื่อพิจารณาถึงจุดเด่น กลับพบว่า ในช่วงปี 2564 มีเพียงไม่กี่เรื่อง ซึ่งเป็นความโดดเด่นที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ได้แก่ ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง การรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมืองการมีร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย บทบาทของสื่อใหม่ออนไลน์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทของภาคประชาสังคมกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในช่วง COVID-19 และความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ในการฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิ
ในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ปรากฎรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น(ก้าวหน้า)10 ด้อย (ถดถอย) ฉบับนี้ เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในไทยในปี 2564 ซึ่งควรนำไปสู่การถอดบทเรียนและการประเมินตนเองของรัฐบาลและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชนและการเคารพสิทธิมนุษยชนในปีต่อไป
รายละเอียดรายงานดังนี้