ข่าว

ย้อนรอยตำนาน"89ปีรธน.ไทย" ก่อการรัฐประหาร…เปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 EP.4

ย้อนรอยตำนาน"89ปีรธน.ไทย" ก่อการรัฐประหาร…เปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 EP.4

11 ธ.ค. 2564

"89ปีรธน.ไทย" ร่วมย้อนรอยเหตุการณ์สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญดำเนินมาถึงเหตุการณ์เข้มข้นเมื่อมีการลอบสังหาร 4 อดีตส.ส.อย่างมีเงื่อนงำและตรารธน.ฉบับที่ 5 ติดตามได้ที่นี่ ก่อการรัฐประหาร ...เปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 EP.4

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

1 มีนาคม 2492 พาดหัวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในสมัยนั้น คือแถลงการณ์ของ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี" ที่ระบุถึงเหตุการณ์กลุ่มบุคคลก่อการ หวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 

 

โดยประกาศด้วยว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวยึดพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และระบุชื่อหัวหน้าขบวนการคือ "นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี" และทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน ในอัตราลดหลั่นกันไป จนกลายเป็นที่มาของจารึก"กบฏวังหลวง"

 

ย้อนรอยตำนาน\"89ปีรธน.ไทย\" ก่อการรัฐประหาร…เปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 EP.4

 

ถัดมาอีกเพียง 2 วัน เวลาประมาณตี 3 ของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2490 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เสียงปืนได้ดังกึกก้องไปทั่วทั้งทุ่งบางเขน บนรถยนต์ของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 ซึ่งบนรถมีชาย 4 คน ถูกยิงจนร่างพรุนจากกระสุนหลายสิบนัด ในสภาพถูกสวมกุญแจมือไว้ ก่อนที่ตำรวจจะแถลงว่า ชายทั้ง 4 คือ นาย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย/นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ/นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน และคนสุดท้าย คือ นายทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 4 คนนี้ ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ

 

ต่อมาตำรวจภายใต้การบัญชาการของ "พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์"ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏ และมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นจึงแถลงว่า กลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คนนี้ และได้ยิงปะทะกับตำรวจ ราว 20 นาย แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากลับไม่มีตำรวจคนใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุถล่มยิงครั้งนี้เลยแม้แต่คนเดียว

 

"พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์"

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนมีเงื่อนงำซ่อนอยู่ และยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรง ชิงไหวชิงพริบ เพื่ออำนาจในการปกครองประเทศในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และเชื่อมโยงถึงการตรารัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 ซึ่งประกาศใช้อีก 20 วันต่อมา ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 พร้อมกับการคลายปมในภายหลังว่า บุคคลที่เสียชีวิตทั้ง 4 คนนี้ ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำในเหตุกบฏวังหลวง แต่พวกเขาถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่างๆ หากนาย ปรีดี ทำการรัฐประหารได้สำเร็จ


    การประชุมสภาสมัยนั้น

 

โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา 10 คน สมาชิกสภาผู้แทน 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 ประเภท ประเภทละ 5 คน เท่ากับ 20 คน รวมทั้งสิ้น 40 คน มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบประกาศใช้
 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า คือ มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น โดยได้บัญญัติถึงสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างละเอียดถึง 20 มาตรา ขณะเดียวกันก็กำหนดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย โดยได้บัญญัติขยายให้มากขึ้นด้วย 
และยังบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทหารทั้งปวง และกำหนดให้มีคณะองคมนตรี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์อีกด้วย

 

ส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน กำหนดห้ามว่ามาจากข้าราชการประจำ รวมทั้งรัฐมนตรี จะเป็นข้าราชการประจำมิได้เช่นกัน เป็นการแยกราชการประจำออกจากการเมือง เพื่อป้องกันทหารประจำการ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

คณะรัฐมนตรีถ่ายภาพร่วมกัน

 

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่อื่นๆด้วย ขณะที่ประชาชนก็มีสิทธิออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ 

 

ส่วนรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้//มีเพียงชุดเดียวคือรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 5

 

"พลเอก ผิน ชุณหะวัณ" ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น

 

แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้ถูกฉีกทิ้งลง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 จากการรัฐประหาร ที่นำโดย "พลเอก ผิน ชุณหะวัณ" ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน

 

ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์ จาก Google 

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์