งบ "บัตรทอง" ปี 66 กว่า 2 แสนล้าน เตรียมเข้าครม.เพิ่มสิทธิประโยชน์ 26 รายการ
บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 จำนวน 2.07 แสนล้านบาท เตรียมหนุนนโยบายยกระดับบัตรทอง-นวัตกรรมการแพทย์ พร้อมอัดสิทธิประโยชน์ใหม่อีก 26 รายการ ขณะที่ยังรองรับบริการโควิด-19 ต่อเนื่อง หลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 207,093 ล้านบาท และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่อไป
สำหรับข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 เพิ่มจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.1% เพื่อรองรับนโยบาย รมว.สธ. อาทิ 4 โครงการยกระดับบัตรทอง โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ การส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ นโยบายผู้สูงอายุ การดูแลที่บ้านและชุมชน นโยบายลดความแออัดโรงพยาบาลปฐมภูมิในเขตเมือง นวัตกรรมด้านการแพทย์ และบริการ Telemedicine นอกจากนี้ ยังรองรับสิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะประกาศเพิ่มภายในปี 2565 จำนวน 26 รายการ รวมทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์และยาตามบัญชีนวัตกรรม
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า กรอบนโยบายในการจัดทำข้อเสนองบประมาณดังกล่าว ได้มีการพิจารณาตามกรอบรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ กฎหมาย แผนงาน รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาจากผลการรับฟังความเห็นกลุ่มต่างๆ ของปี 2564 ซึ่งมีการคำนวณโดยคาดการณ์เป้าหมายตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ต้นทุน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อต่างๆ ที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อข้อเสนองบประมาณเงินกองทุนฯ ปี 2566
ทั้งนี้ ในงบประมาณจำนวน 207,093 ล้านบาท แยกเป็นเงินเดือนภาครัฐจำนวน 61,842 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนฯ ที่ส่งให้ สปสช. จำนวน 145,251 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ค่าบริการอื่นๆ นอกงบเหมาจ่ายรายหัว ได้แก่ ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ
รวมถึงรายการใหม่หรือที่แยกมาจากเหมาจ่าย เช่น ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น
เลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า การจัดทำข้อเสนองบประมาณครั้งนี้ ยังพิจารณาภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 จะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น โดยงบบริการโควิด-19 จะผนวกอยู่ในข้อเสนองบกองทุนฯ ปี 2566 รวม 1,358 ล้านบาท แบ่งเป็น บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) หรือการตรวจหาเชื้อ บริการรักษาผู้ป่วยใน (IP) และผู้ป่วยนอก (OP) รวมทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้และผู้รับบริการ หรือเงินเยียวยาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่จะยังคงมีการดูแลอยู่ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามหากมีข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ ที่ประชุมก็ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การลำดับความสำคัญงบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 ไว้
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับ ยา/วัคซีน/เวชภัณฑ์/อวัยวะเทียม/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ที่ให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์จัดหาให้ ปี 2566 รวมจำนวน 14,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปี 2565 ซึ่งเป็นการคาดการณ์รายการที่จะจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เช่น ยาจำเป็น วัคซีน อุปกรณ์และอวัยวะเทียม ยาคุมกำเนิด ถุงรองรับปัสสาวะ (CR) น้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นต้น