ข่าว

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง"น้องมายด์" ระบุเรียกร้องทางการเมืองตามปกติ

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง"น้องมายด์" ระบุเรียกร้องทางการเมืองตามปกติ

13 ธ.ค. 2564

เปิดคำพิพากษาศาลเเขวงดุสิตยกฟ้อง"น้องมายด์" ชุมนุมไล่นายกฯ 21 ต.ค.63 ระบุเป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติ ไม่ใช่มั่วสุมก่อความวุ่นวาย

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 64 ที่ศาลเเขวงดุสิต ศาลอ่านคำพิพากษาหมายเลขดำที่ อ 1768/2563 ระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ น.ส.ภัสราวลี หรือมายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีจัดม็อบ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.63 ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล 

 

โดยศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ข้อ 1 กำหนดห้ามมีให้ชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขเหตุตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

 

ดังนั้น การพิจารณาว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงต้องพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร อ้างเหตุในการประกาศว่า "...มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลอันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ....กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม"  

เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีที่มีการกระทำที่มีความรุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การชุมนุมอันจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ข้อ 1 จึงต้องเป็นการกระทำที่มีความรุนแรง อันมีใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 

 

เมื่อพยานหลักฐานโจทก็ได้ความว่า จำเลยร่วมชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล 

 

พยานโจทก็ไม่เห็นจำเลย และพบจำเลยอีกครั้งบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ปรากฎจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมในลักษณะที่ไม่สงบและไม่ปรากฎว่าจำเลยที่อาวุธ ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่การกระทำที่รุนแรง ส่วนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนนั้น ก็ไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าจำเลยเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่รุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 

การชุมนุมของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ข้อ 1 

 

ส่วนความผิดฐานมั่วสุม หรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น เห็นว่า ฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลาย ที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควร เท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระรชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และการพิพากษาลงโทษจำเลยต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 

 

เมื่อฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยกับผู้มีชื่อรวมตัวกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี การรวมตัวกันดังกล่าวจึงไม่ใช่การมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยตามที่บรรยายในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุม หรือกระทำการใดอันป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ข้อ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิตตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของจำเลย พิพากษายกฟ้อง