รัฐธรรมนูญฉบับ”สั้นที่สุด”…แต่มีอำนาจ(เผด็จการ)สูงสุด EP.6
ย้อนรอย 89 ปีรธน. เดินทางมาถึงรธน.ฉบับสำคัญ ซึ่งทำให้คณะปฏิวัติ”มีอำนาจ”เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จโดย”จอมพลสฤษดิ์” ผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเป็นผู้บัญชาการสูงสุด รวบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไว้ทั้งหมด ติดตามได้EP.6
มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ระบุไว้ว่า ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่ "นายกรัฐมนตรี"เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้"นายกรัฐมนตรี" โดย "มติของคณะรัฐมนตรี" มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น "เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
นี่เป็นหนึ่งบทบัญญัติใน 20 มาตรา ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ที่หลังก่อรัฐประหาร "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 และได้นำธรรมนูญฉบับนี้มาใช้ เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2502 และประกาศให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
บทบัญญัติจากกฎหมายปกครองสูงสุดฉบับนี้ ทำให้คณะปฏิวัติ "มีอำนาจ" เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จโดย "จอมพลสฤษดิ์" ผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเป็นผู้บัญชาการสูงสุด รวบอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ไว้ทั้งหมด และคณะปฏิวัติยังออกกฎหมาย ด้วยการออกประกาศของคณะปฏิวัติ และบริหารราชการแผ่นดิน มีหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้สั่งการ ส่วนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก 240 คน ล้วนเป็นข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด และเป็นนายทหารประจำการกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมด สะท้อนการเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทางทหารและข้าราชการมากที่สุด ตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเมื่อปี พ.ศ.2475
ประเทศไทยในช่วงนั้นยังเกิดช่องว่างการปกครองโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 101 วัน คือตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2502 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญไทยที่มีบทบัญญัติที่สั้นที่สุด คือ มีเพียง 20 มาตรา จนถูกวิจารณ์ไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีลักษณะเป็น"รัฐธรรมนูญของรัฐเผด็จการ" ที่ชัดเจนที่สุด
ขณะเดียวกันยังสร้างภาพจำของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ด้วยการบังคับใช้มาตรา 17 ในการสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ไปหลายคน โดยไม่ผ่านกระบวนการของศาล จนทำให้ผู้คนสมัยนั้น เกิดความหวาดกลัวว่าจะโดนจับและตัดสินคดีด้วยวิธีเช่นนี้
ส่วน"จอมพล สฤษดิ์"ยังได้แสดงบทของผู้นำเผด็จการ ด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาคดีวางเพลิงด้วยตัวเองกลางท้องสนามหลวง ก่อนจะสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาที่รับสารภาพว่า เป็นคนรับจ้างวางเพลิง เพื่อหวังผลประโยชน์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 จนถูกกล่าวขานไปทั่วเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ก็ถูกใช้เป็นเวลายาวนานถึง "9 ปี 4 เดือน 20 วัน" หรือตลอดวาระการดำรงตำแหน่งของ "จอมพลสฤษดิ์" ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 จากนั้น "จอมพลถนอม กิตติขจร"จึงขึ้นสืบทอดอำนาจต่อโดยที่"จอมพลถนอม"ก็ยังยึดเอากฎหมายฉบับนี้ปกครองประเทศต่อมา
แต่เวลาเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่ "จอมพล สฤษดิ์"ถึงแก่อสัญกรรม ทายาทและภรรยาที่มีหลายคนของ "จอมพลสฤษดิ์"เกิดการวิวาทแก่งแย่งทรัพย์สินมรดก ซึ่งระบุกันว่ามีจำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 บุตรทั้ง 7 คน ของ "จอมพลสฤษดิ์"ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง "ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์"ภรรยาคนสุดท้าย โดยระบุว่า เป็นคนบุกไปทำลายพินัยกรรมของบิดาถึงในบ้านพักภายในกองพลทหารราบที่ 1 ทำให้เรื่องราวกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
รัฐบาลภายใต้การนำของ "จอมพลถนอม"จึงตัดสินใจนำมาตรา 17 มาบังคับใช้ในการยึดทรัพย์ "จอมพลสฤษดิ์"และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอบข่ายการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อลดกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน
ซึ่งผลการสอบสวนปรากฏออกมาว่า "จอมพล สฤษดิ์"ได้ใช้เงินแผ่นดินเพื่อเลี้ยงดูอนุภรรยาและลงทุนในธุรกิจ มีที่มาจาก 3 แหล่งคือ เงินงบประมาณ 394 ล้านบาท ที่เป็นเงินสืบราชการลับของสำนักนายกรัฐมนตรี เงิน 240 ล้านบาทจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และประมาณ 100 ล้านบาทซึ่งควรจะให้แก่กองทัพบกที่ได้เปอร์เซนต์จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล
ในระหว่างการสอบสวน "อธิบดีกรมทะเบียนการค้า"ในสมัยนั้น เปิดเผยด้วยว่า "จอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตรา" มีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ถึง 45 แห่ง การถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก็คือในบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ต่อมาสมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ได้ให้ปากคำว่า หุ้นส่วนเหล่านี้ ได้โอนไปให้น้องชาย "จอมพล สฤษดิ์"สองคน ซึ่ง "จอมพล สฤษดิ์" ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าว ที่ออกกติกาบังคับให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทนี้
นอกจากนี้ยังมีจำนวนหุ้นและบัญชีเงินฝากในธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งที่ดินอีกมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับไม่ถ้วนทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท ซึ่งถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐบาลหรือไม่
ในที่สุดศาลก็ได้พิจารณาคดีวิวาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของ"จอมพล สฤษดิ์"ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2507 ศาลแนะนำให้ประนีประนอมกันโดยที่ให้ "ท่านผู้หญิงวิจิตรา"และ "พันโท เศรษฐา" บุตรชาย เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และให้ตกลงกันเองต่อเมื่อปรากฏผลขั้นสุดท้ายของการสอบสวนของรัฐบาลแล้ว
มาตรา 17 จึงเป็นกฎหมายที่วกกลับไปถึงผู้กำหนดใช้ อย่างที่หลายคนมองเป็นเรื่องของชะตากรรม จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปกครองประเทศฉบับนี้ได้ถูกยกเลิก เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ และประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511
ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google