“จรัญ” แนะส่งศาลรธน.ตีความลดโทษคนโกง ด้านไพศาลแย้งหวั่นกระทบพระราชอำนาจ
"จรัญ" แนะส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมตำหนิฝ่ายบริหาร ลดโทษคนโกงกระทบกระบวนยุติธรรม จี้นายกฯ ดูแลเข้มงวด ด้านไพศาลเห็นต่าง ชี้หากส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัย อาจจะกระทบต่อพระราชอำนาจ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM101 ต่อกรณีที่สังคมวิจารณ์กรณีที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษนักโทษในคดีทุจริต คอร์รัปชัน ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริต
ทั้งนี้ ต้องรู้ธรรมชาติของคนเกเร หากไม่จำนนด้วยหลักฐานจะมีช่องทางหาทางออกไปเรื่อย ต้นเหตุมาจากการบริหารโทษ ไม่ว่าบริหารอะไร ไม่ใช่ทำตามใจชอบต้องทำให้ถูกกฎหมาย จึงอ้างกฎหมาย และระเบียบ การบริหารกิจการใดไม่ใช่เอากฎหมายอย่างเดียว แน่นอนต้องไม่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ พวกฉลาดทำถูกกฎหมาย แต่ระบบคุ้มครองสังคมต้องดูต่อไปว่า ฝ่าฝืนสำนึกของสุจริตของสังคมหรือไม่ มีที่ไหนในโลก จำคุกมา 4 ปี 4เดือน ขออภัยโทษให้ 4 รอบ
นายจรัญกล่าวด้วยว่า การยกร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ความเห็นชอบ แต่ยอมรับว่า ครม. ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือนำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียดไม่ใช่ ขอเป็นการทั่วไป และต้องกลั่นกรอง และตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร
“คดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกยากแสนเข็ญมากกว่า ดังนั้นคดีทุจริต คอร์รัปชันต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติดยังมีการขอรอบเว้นรอบ แต่คดีทุจริตนี้นี้ทุกรอบ คนที่โกงและจับได้ชัด ๆ มีโทษจำคุก 50 ปี แต่ลดเหลือ 6 ปี 10 ปี แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากเป็นการบริหารไม่ใช่ good governance แบบนี้เป็น bad governance แบบนี้ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนแย่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกันหมด อย่างไรก็ดี ผมมองว่าเรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมต้องดูแล เพราะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหารต้องดูแลประเทศ” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวอีกว่า การแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีช่องทางที่ทำได้ คือ ใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (10) และมาตรา 63 โดยกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 175 และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริงจะถูกตีตก แต่กรณีดังกล่าวหาใช้ตามช่องทางและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างไรต้องเคารพในอิสระและความเป็นกลางของสถาบันตุลาการของชาติ
“ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่ากฎหมายในชั้นพระราชกฤษฎีกา ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง หลายครั้งขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนั้นช่องทางนี้เป็นไปได้ และไม่กระทบกระเทือนพระองค์ เพราะไม่ใช่กระแสรับสั่ง เป็นการบริหารโทษของฝ่ายบริหารที่คานอำนาจของฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะตามกฎหมายห้ามย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ” นายจรัญ กล่าว
ด้านนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol วันนี้(14 ธ.ค.) ระบุว่า ถ้า พรฎ.พระราชทานอภัยโทษผิดรัฐธรรมนูญ จะเกิดผลกระทบอย่างไร?
ผมเคารพ ท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล มานาน แต่จำเป็นต้องกล่าวว่า ข้อเสนอแนะ ที่ให้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรฎ.พระราชทานอภัยโทษผิดรัฐธรรมนูญนั้น จะได้ผลเพียงแค่เอาใจคนบางพวกที่ไม่พอใจพวกทักษิณไม่กี่คนเท่านั้น
แต่จะมีผลกระทบใหญ่หลวงนัก ลองช่วยคิดกันดู
1. ต้องเข้าใจว่า การพระราชทานอภัยโทษนั้นทำได้ 3 ทาง
ก.พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษโดยตรง
ข. โดยการออกพระราชบัญญัติ พระราชทานอภัยโทษ เช่นการเสนอร่างพระราชบัญญัติอภัยโทษแบบสุดซอย ซึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภา
ค. โดยรัฐบาลคือ ครม.ใช้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกา โดยนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ
กรณีเรื่องนี้ เป็นกรณีที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจของรัฐบาล แล้วกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกาโดยนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
2 เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ โดยมีกฎกระทรวงยุติธรรมซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประกาศใช้ มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ว่านักโทษใดเป็นนักโทษชั้นไหน กรมราชทัณฑ์ ก็ต้องคำนวณการลดโทษไปตามนั้น ไม่ใช่ความผิดใดของคุณสมศักดิ์ (เทพสุทิน) หรือ กรมราชทัณฑ์
บรรดาผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว จะแก้ไขอีกไม่ได้ ถ้าจะแก้ให้ถูกใจใครก็ต้องไปแก้หลักเกณฑ์ที่จะทำต่อไป
3. ถ้ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีเจตนาไม่ขอพระราชทานอภัยโทษแก่บรรดานักโทษคดีทุจริต ก็ต้องเขียนไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นว่า "พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่นักโทษผู้ต้องคดีทุจริต" เพียงเท่านี้ก็ไม่เป็นปัญหาดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่เพราะไม่เขียนไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงเป็นทางให้คนที่ไม่พอใจ เคลื่อนไหวคัดค้าน
การไม่เขียนข้อยกเว้นเรื่องนี้ ก็ต้องถือว่ามีเจตนาที่จะอภัยโทษทุกข้อหาความผิด ซึ่งดำเนินการแบบเดียวกันต่อจากการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งก่อนหน้านี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี!!!!
4.ถ้าสมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาผิดรัฐธรรมนูญและต้องตกไป ก็เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีทำผิดรัฐธรรมนูญ จะต้องรับผิดชอบ ทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมกันได้ โดยอาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วยก็ได้
จะทำอะไรกันนั้นได้คำนึงถึงความรับผิดชอบของ นายกฯกันบ้างไหม?
นี่คือผลกระทบที่อาจเกิดแก่รัฐบาล
ซึ่ง"นักกฎหมาย" บางท่าน ที่ไปทำหน้าที่ปรึกษากฎหมายให้รัฐบาล โดยไม่เปิดเผยชื่อ(ไม่ใช่ท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม) ก็ควรจะรับผิดชอบด้วยแม้ในทางจิตใจและจิตสำนึก
5. ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตราขึ้น คิดกันบ้างไหมว่าจะกระทบต่อพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์****
เพราะการพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณีในวาระสำคัญของบ้านเมือง ที่ทุกรัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า
ผมเชื่อว่าหลักการใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมคำนึงถึงผลกระทบอย่างทั่วด้าน มากกว่าที่จะคิดถึงความไม่พอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เรื่องนี้จึงเกี่ยวข้อง และอยู่ในกรอบของโลกนิติ ธรรมนิติและราชนีติ รวมๆกัน
จึงขอผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ใคร่ครวญให้จงหนัก
เฮ้อ เวรกรรมอะไรของกระบี่เดียวดายหนอนี่ ที่เนื้อก็ไม่ได้กินหนังก็ไม่ได้รองนั่ง แต่จำเป็นต้องเอากระดูกมาแขวนคอ