ข่าว

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

15 ธ.ค. 2564

"...การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครอง..." คำปรารถตอนหนึ่งของจอมพลถนอม กิตติขจร ติดตามย้อนรอย 89 ปี รธน. “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 "ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"

 

จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี มาตรวจเยี่ยม ศาลากลางเพชรบูรณ์ (หลังโบราณ) ขณะนั้น

 

เป็นคำปรารภของ "จอมพล ถนอม กิตติขจร"นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2512 หลังได้กระทำการก่อรัฐประหารรัฐบาลของตัวเอง ในช่วงค่ำของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จากนั้นจึงมีคำสั่งของคณะรัฐประหาร ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง และประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

 

ปิดฉาก "รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8" ซึ่งมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ และถูกจารึกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่าง นานที่สุดกว่า 9 ปี นับจากวันโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมระยะเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน และมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียดมากถึง 183 มาตรา

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ "จอมพล ถนอม" ต้องยึดอำนาจตัวเอง สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของตัวเอง นำโดย”นาย ญวง เอี่ยมศิลา” ส.ส.จังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆตามที่”จอมพล ถนอม”ได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้งเมื่อปี 2512 แต่เมื่อไม่ได้รับตามนั้น บรรดาส.ส.เหล่านี้จึงพากันเรียกร้องและขู่ว่าจะลาออก ทำให้”จอมพล ถนอม”ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาได้ จึงประกาศยึดอำนาจรัฐบาลในกำกับดูแล และเรียกตัวเองเพียงแค่ว่า "คณะปฏิวัติ"

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 

จากนั้น"จอมพล ถนอม" ได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติเพื่อปกครองประเทศ และขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น "ประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ" มีผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ "พลเอก ประภาส จารุเสถียร" เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ "นายพจน์ สารสิน" เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง "พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์" เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม  "พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์"เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

 

จอมพลประภาส

 

โดยมี "พันเอก ณรงค์ กิตติขจร" ลูกชายจอมพลถนอมและเป็นลูกเขยของ "จอมพลประภาส" ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ 

 

อุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี  -บุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิของพรรคประชาธิปัตย์ -อนันต์ ภักดิ์ประไพ"ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก ณ ขณะนั้น

 

ซึ่งหลังจากการรัฐประหารไม่นาน "นายอุทัย พิมพ์ใจชน"ส.ส.จังหวัดชลบุรี "นายบุญเกิด หิรัญคำ"ส.ส.จังหวัดชัยภูมิของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย "นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ" ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก ไม่สังกัดพรรค ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แต่แล้วศาลได้ตีความให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลย และสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี

 

คณะปฏิวัติได้ครองอำนาจมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2515 จึงประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515" ซึ่งมีทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรามีสาระสำคัญคือ ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้ "จอมพล ถนอม"เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ยังได้นำเอา "มาตรา 17"กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของ "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใดๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือมีกฎหมายฉบับใดๆ มา รองรับ

 

นิสิตนักศึกษาชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ท่ามกลางความไม่พอใจของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่เฝ้ารอรัฐธรรมนูญการปกครองอย่างถาวร มาตั้งแต่ครั้งการยึดอำนาจของ”จอมพล สฤษดิ์”ในปี พ.ศ.2501 แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2511 ที่ถูกยกเลิกไปในการรัฐประหารครั้งนี้ ก็ต้องใช้เวลาร่างนานเกือบ 10 ปี ประกอบกับเกิดการทุจริตคอรัปชั่น และกลุ่มนักศึกษาได้จัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือ เดินขบวนประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในปลายปี พ.ศ.2515 ประณามการใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปล่าสัตว์ที่ป่าทุ่งใหญ่ และคัดค้านการลบชื่อหรือขับไล่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คนให้พ้นสภาพในช่วงกลางปี พ.ศ.2516 

 

จนในที่สุดในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2516 การชุมนุมเริ่มก่อตัวขึ้นจากที่ "นายธีรยุทธ บุญมี"อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยสมาชิก 10 คน เปิดแถลงข่าวที่ท้องสนามหลวง และประกาศวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว จัดหลักสูตรอบรมรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน และกระตุ้นประชาชนให้สำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ

 

ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของ "จอมพล ถนอม"ในตอนนั้น ตอบโต้การชุมนุมนี้ด้วยการจับกุมนักศึกษาและผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม และตั้งข้อกล่าวหาในทำนองเป็น "คอมมิวนิสต์" มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง

 

บรรยากาศการเผชิญหน้าจึงตึงเครียดขึ้นทุกวัน และจำนวนผู้ชุมนุมก็เพิ่มขึ้นทุกวันจนเป็นเรือน แน่นขนัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 

กระทั่งในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 นาย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาที่ได้รับแต่งตั้งเฉพาะกิจให้เป็นหัวหน้าปฏิบัติการเดินขบวน ได้นำฝูงชนเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้า และสวนจิตรลดาเพื่อหวังพระบารมีเป็นที่พึ่ง 

 

การชุมนุมต่อเนื่องไปถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้เกิดการปะทะกันระหว่างฝูงชนและตำรวจ กระทั่งบานปลายลุกลามไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไปถึงถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สะพานผ่านฟ้า มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก และมีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้เข้าไปหลบภัยในเขตพระราชวังสวนจิตรลดา โดยมารู้กันในภายหลังว่า”พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว รัชกาลที่ 9” ทรงมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเปิดประตูวังให้ประชาชนเข้าไปหลบข้างใน 

 

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 

ย้อนรอย 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย “คนไทย”นองเลือดสู้”เผด็จการ”…แลกรัฐธรรมนูญEP.7

 

ในที่สุดในเวลา 19.40 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์ ว่า "วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นวันมหาวิปโยค" และตรัสว่า "รัฐบาลจอมพล ถนอม" ได้ลาออกแล้ว และทรงแต่งตั้ง "นายสัญญา ธรรมศักดิ์" เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

 

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนจากหลายภาคส่วน และไม่มีนักการเมืองร่วมด้วย ใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ทำการ จนถูกเรียกกันว่า "สภาสนามม้า" และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 หรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รวมระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน และในวันเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 มีเนื้อหาของกฎหมายจำนวน 238 มาตรา

 

นำไปสู่การเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ.2518 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น มีการอุปมาไว้ว่า เป็นยุค"ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" แต่ทว่าเหตุการณ์ต่างๆในประเทศก็ไม่สงบสุขเท่าใดนัก ยังเกิดการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่างๆในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความขัดแย้งและการสู้รบจนส่งผลถึงชายแดนไทย แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ จนผ่านไปได้ 2 ปี จึงนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของชาติ คือ เหตุการณ์ "6 ตุลา 2519"

 

ขอบคุณภาพจาก Google

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์