ข่าว

โครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" สานเครือข่ายชาวนาไทยให้เข้มแข็ง

โครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" สานเครือข่ายชาวนาไทยให้เข้มแข็ง

15 ธ.ค. 2564

โครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" สานเครือข่ายชาวนาไทยให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน ผลิตรวมกลุ่มกันขายเพื่อลดต้นทุนการจัดหาเมล็ดพันธุ์

โครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" เป็นโครงการสำคัญ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่นอกจากจะมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิตรวมกลุ่มกันขายเพื่อลดต้นทุนการจัดหาเมล็ดพันธุ์ วัสดุการผลิต การจ้างงาน และช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองแล้ว ยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง

 

ดังตัวอย่างเช่น “กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ข้าวจังหวัดนครนายก” ซึ่งกลุ่มเกษตรกรชาวนาที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบใหญ่ทุกกลุ่ม ล้วนบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า ภายหลังได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง การผลิต การขาย แตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

กรณีของนายประสาน เต็มเปี่ยม ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลบ้านพร้าว หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา นครนายก  ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวมาแล้วกว่า 35 ปี เพราะเป็นอาชีพหลักของครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นปู่ โดยก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริม"เกษตรแบบแปลงใหญ่" นายประสานทำนาเองคนเดียวไม่ได้มีการรวมกลุ่ม และไม่ได้อาศัยความรู้และเทคโนโลยีใดๆ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าปุ๋ยเคมี 800 บาทต่อไร่

โครงการระบบส่งเสริม \"เกษตรแบบแปลงใหญ่\" สานเครือข่ายชาวนาไทยให้เข้มแข็ง

ค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช/กำจัดแมลงศัตรูพืช 300 บาทต่อไร่  ค่าเมล็ดพันธุ์และค่าอื่นๆ อีกประมาณ 1,700 บาทต่อไร่ ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  แต่ภายหลังเข้าร่วมโครงการ  ต้นทุนการผลิตกลับลดลง โดยปัจจุบัน มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2,000 บาทต่อไร่ เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ลดลง เหลือเพียง 10-15 กิโลกรัมต่อไร่

 

นายประสาน เล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก มาถ่ายทอดความรู้ เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี โดยเฉพาะการกำจัดพันธุ์ปนในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสำหรับเก็บไว้ทำพันธุ์และจำหน่ายให้สมาชิกหรือเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนา เรื่องการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูข้าว

คือการทำเชื้อราไตรโคเดอร์มาและในส่วนของการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวเจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายกและสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และแนะนำวิธีการสำรวจโรคและแมลงในนาข้าว ทำให้สามารถเฝ้าระวังและคาดการณ์เตือนภัยการระบาด รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์อย่างได้ถูกวิธี  

 

หากเปรียบเทียบกันจะเห็นว่า ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และถ้านำผลผลิตที่ได้มาเปรียบเทียบกันอีก ก็จะพบว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ในปริมาณที่เท่ากัน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีจะให้ปริมาณผลผลิตที่สูงกว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไป

 

นอกจากนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีการสร้างเครือข่าย "นาแปลงใหญ่" ภายในจังหวัด เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน ซึ่งทำให้เครือข่าย "นาแปลงใหญ่"เข็มแข็งมากยิ่งขึ้น และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

 

โครงการระบบส่งเสริม \"เกษตรแบบแปลงใหญ่\" สานเครือข่ายชาวนาไทยให้เข้มแข็ง

นางละออ ศุจิภานันท์ ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กล่าวว่า ได้มีการเชื่อมโยงกลุ่มในการแลกเปลี่ยนความรู้การทำนา แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี กับกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลบ้านพร้าวของนายประสานและหากเมล็ดพันธุ์ข้าวมีไม่เพียงพอ ก็สามารถจัดหาจาก"กลุ่มแปลงใหญ่"ใกล้เคียงเข้ามาเพิ่มเติม

 

หรือหากพื้นที่นาในเขตของตน ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวบางสายพันธุ์  แต่ข้าวสายพันธุ์นั้นเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะมีการจัดหาข้าวสายพันธุ์นั้นเข้ามาทำการแปรรูป และบรรจุตีตราจำหน่ายในแบรนด์ของกลุ่มตน ทำให้กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวตำบลพิกุลออกมีผลิตภัณฑ์ข้าวที่หลากหลาย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดได้อีกทางหนึ่ง "กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว" ทุกกลุ่มมีความมั่นใจในผลผลิตของกันและกัน เพราะอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ที่ได้รับการควบคุมดูแลการผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก

 

แปลงใหญ่ข้าวตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเข้มแข็งขึ้นแบบก้าวกระโดด ภายหลังเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ นายนรินทร์ เบญจวงษ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลบ้านพริก ที่มีการดำเนินงานร่วมกับสมาชิก 30 คน พื้นที่นารวม 1,200 ไร่ กล่าวว่า กลุ่มดำเนินการมาแล้ว 12 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

อาศัยวิชาการมากขึ้น มีส่วนราชการเข้ามาสนับสนุน มีการช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการสนับสนุนเครื่องอบลดความชื้นข้าว เมื่อก่อนเราใช้เวลาในการตากข้าวมากกว่า 3 วัน หรือ 36 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเราสามารถอบลดความชื้นโดยใช้เวลาเพียง 12-14 ชั่วโมง ทำให้กลุ่มสะดวกขึ้น จากเมื่อก่อนที่เคยมีต้นทุนการผลิตสูง ปัจจุบันต้นทุนลดน้อยลงมาก ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือแปลงใหญ่ข้าวตำบลบ้านพริก

 

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก เป็นหน่วยงานที่เกษตรกรในพื้นที่ให้ความเชื่อมั่น เป็นพี่เลี้ยงและปรึกษาที่อยู่เคียงข้าง "กลุ่มนาแปลงใหญ่"และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดเกี่ยวกับข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายกพร้อมจะให้ความสำคัญและผลักดันทุกโครงการเพื่อให้พี่น้องชาวนาจังหวัดนครนายกเติบโตด้วยตนเอง อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน