ยิ่งห่างยิ่งดี "หมอยง" แนะแนวทางฉีด "วัคซีนเข็ม 3" 6 เดือนขึ้น ภูมิสูง อยู่นาน
"หมอยง" แนะแนวทางฉีด "วัคซีนเข็ม 3" ยิ่งห่าง ยิ่งดี ภูมิสูง อยู่นาน แต่หากเกิดการระบาดรุนแรง จัดได้ทันทีอย่ารอ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความให้ข้อมูลถึงหลักการ "ฉีดวัคซีน" ป้องกันโรค ระบุว่า ตามศาสตร์การให้วัคซีน การให้วัคซีนครบ จะต้องประกอบไปด้วยการให้วัคซีนเบื้องต้น (prime) และกระตุ้น (boost) จึงจะเรียกว่าให้วัคซีนครบชุด เช่น การให้วัคซีตับอักเสบ เอ บี ให้เบื้องต้น 1 เข็ม ในตับ เอ และ 2 เข็ม ในตับ บี และกระตุ้นอีก 1 เข็ม
ในอีก 6 เดือนต่อมา การให้วัคซีน หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้สมองอักเสบ หรือในเด็กก็ตาม จะต้องมีเข็มหรือชุดเบื้องต้น prime ตามด้วยกระตุ้น boost
ให้ภูมิอยู่นาน
โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่บอกว่าให้วัคซีนครบคือ 2 เข็ม จึงไม่ถูกต้อง การให้ครบจะต้องประกอบด้วย การให้ 2 เข็มเบื้องต้น เป็นตัว prime และอีก 3-6 เดือนต่อมา การกระตุ้น boost จึงจะเรียกว่าครบชุด การให้วัคซีน การกระตุ้น ถ้าเข็มกระตุ้นเข้าไปใกล้ชิดกับเข็มแรก หรือ 2 เข็มแรก เช่น ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ทั้ง 3 เข็ม เข็มที่ 3 ไม่ถือว่าเป็นเข็มกระตุ้น ยังถือว่าเป็น prime หรือเบื้องต้น ต้องมีการกระตุ้นอีก เข็มกระตุ้นยิ่งห่างจากเข็มเบื้องต้นนานยิ่งดี โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 6-24 เดือน ในตับ เอ หรือตับ บี แต่บางครั้งอนุโลมห่างลงมา 3 เดือน แต่ผลการกระตุ้นจะสู้ยิ่งนานไม่ได้ โดยเฉพาะ 6 เดือนขึ้นไป การเว้นห่าง ยิ่งห่าง การกระตุ้นดี กระตุ้นได้ภูมิสูงและอยู่นานกว่า แต่ถ้าห่างเกินไปมีข้อเสีย ถ้ามีการระบาดโรคมาก จะมีการติดโรค แทรกมาก่อนกระตุ้น
ดังนั้น ถ้าไม่มีการรบาดของโรค ให้รอให้มีระยะห่าง ถ้ามีการระบาดมากก็รีบให้เร็วขึ้น การให้วัคซีนครบชุด จะต้องประกอบไปด้วยให้ชุดเบื้องต้น (prime) กระตุ้น (boost)