นพ.ตุลย์ ยื่นหนังสือถึงปธ.สภา จี้ตั้งกมธ.ตรวจสอบการลดโทษนักโทษคดีทุจริต
ผศ.นพ.ตุลย์ ยื่นหนังสือถึงปธ.สภา และปธ.วุฒิสภา ขอให้ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะคดีทุจริตจำนำข้าว พร้อมจี้นายกฯ ตรวจสอบ ย้ำส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการลดโทษดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
วันนี้ (15 ธ.ค.64 ) กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำโดย ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมกล่าวเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจน และสามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ผศ.นพ.ตุลย์ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ผ่านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และในสัปดาห์หน้าและยื่นหนังสือที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
ทั้งนี้ เอกสารที่ ผศ.นพ.ตุลย์ นำมายื่นและแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ในหัวข้อเรื่องว่า “การฉวยโอกาสมหามงคลในการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษให้นักโทษคดีทุจริตร้ายแรง” โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 175 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ และ มาตรา 175 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม ผ่านคณะรัฐมนตรีให้มีมติส่งร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งมีการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ มาอย่างยาวนานในหลายวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งของชาติไทย อย่างไรก็ตาม การพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ก็จะมีการยกเว้นคดีบางประเภทที่มีความร้ายแรง ที่ไม่สมควรได้รับการลดโทษ หรือลดโทษไม่มากนัก เช่น คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น
คดีทุจริตคอร์รัปชัน เป็นคดีอีกประเภทที่มีความร้ายแรง เกิดผลเสียงต่อประเทศชาติอย่างรุนแรง บางคดีก่อความเสียหายหลายแสนล้าน เช่น คดีทุจริตการจำนำข้าวและการระบายข้าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุกจำเลยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งมโหฬารนี้ คนละหายสิบปี ไม่สมควรได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษเลยด้วยซ้ำ หรืออย่างมากก็จัดชั้นเท่าคดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ให้ลดโทษคราวละน้อย ๆ
แต่ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ รวม 4 ครั้งด้วยกัน นักโทษจำคุกในคดีจำนำข้าวหลายคนพ้นคุกไปแล้ว ที่ถูกพิพากษาจำคุกอยู่ก็ได้รับการพิจารณาเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้รับการลดโทษ คราวละ 10-12 ปี จนเหลือโทษเพียง 10 ปี และถ้าได้รับการลดโทษอีกครั้งในปีหน้า ก็คงจะออกจากคุกได้เลย ทำให้ประชาชนที่รักความเป็นธรรม ยอมรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรง จึงขอเสนอต่อ
1)นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (นั่นคือเป็นผู้รับผิดและรับชอบตามพระราชกฤษฎีกานี้) ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอนดำเนินการ ตั้งแต่การพิจารณาการจัดชั้นนักโทษ การร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ในวโรกาสต่าง ๆ หากขั้นตอนไม่ถูกต้องหรือทุจริตในการดำเนินการ ให้ดำเนินการยกเลิกการลดโทษนั้น ๆ เสีย นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขกฎกระทรวง ระบุว่าคดีทุจริตคอร์รัปชันจะเข้าข่ายลดโทษ ต้องติดคุกมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุกตามคำพิพากษา และควรได้รับการลดโทษไม่เกิน 1 ครั้ง ในรอบ 12 เดือน และแต่ละครั้งควรลดโทษไม่เกิน 3 ปี
2)สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ควรให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องหรือตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ในการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษในช่วงปี 2563-2564 ว่าดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่
3)จะดำเนินการร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 230(1) ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิพากษาว่ากฎกระทรวงและการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า รัฐจะต้อง “… จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด...” หรือไม่ เพราะกฎกระทรวงและการเสนอพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษมีผลให้ผู้ต้องโทษคดีทุจริตประพฤติมิชอบได้รับการลดโทษอย่างมากมาย หากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 63 แล้ว ก็จะเกิดผลคือ การลดโทษของผู้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ประกาศไว้แล้วเป็นโมฆะ