"ยาเม็ดรักษาโควิด" ไฟเซอร์ ยัน ป้องกันเสียชีวิตได้เกือบ 90%
"ยาเม็ดรักษาโควิด" ล่าสุดจาก ไฟเซอร์ ออกมาอัปเดตการศึกษาล่าสุดว่า ยาต้านไวรัสตัวใหม่นี้ สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 90%
"ยาเม็ดรักษาโควิด" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ซึ่งบ่งชี้ว่า ยาต้านโควิด ชนิดรับประทานของบริษัทฯ สามารถลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้เกือบถึงร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
โดยไฟเซอร์ระบุว่า ผลลัพธ์ข้างต้นอ้างอิงจากผลวิเคราะห์ผู้ป่วยกว่า 2,000 ราย พบว่าระหว่างการทดลองระยะ 2/3 สอดคล้องกับการวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า "ยาเม็ดรักษาโควิด" นี้ สามารถลดอัตราความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 89 หากใช้ยาดังกล่าวภายใน 3 วันหลังจากเริ่มมีอาการ เมื่อเทียบกับการทดลองใช้ยาหลอกในผู้ป่วยเสี่ยงสูงและทั่วไป
นอกจากนี้ ยังพบว่า หากรักษาผู้ป่วยด้วย "ยาเม็ดรักษาโควิด" ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ จะช่วยลดความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 88 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 85 ที่แสดงในผลการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้
ไฟเซอร์เสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการยื่นขออนุมัติให้ "ยาเม็ดรักษาโควิด" ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ประธานและซีอีโอของไฟเซอร์ อัลเบิร์ต บูร์ลา กล่าวว่า การอุบัติขึ้นใหม่ของสายพันธุ์โอไมครอน ยิ่งเร่งความจำเป็นในการคัดเลือกแนวทางการรักษาที่สามารถเข้าถึงได้ และเรามั่นใจว่า หากยาชนิดนี้ผ่านการอนุมัติ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยับยั้งโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้
ในขณะเดียวกัน ผลวิเคราะห์จากการทดลองระยะ 2/3 อีกรายการของไฟเซอร์ ระบุว่า "ยาเม็ดรักษาโควิด" ยังช่วยลดความเสี่ยงรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 70 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับทั่วไป โดยเชื้อมีปริมาณลดลงถึง 10 เท่าในวันที่ 5 ของการรักษา เมื่อเทียบกับการทดลองใช้ยาหลอกในผู้ป่วยเสี่ยงสูงและทั่วไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน คณะที่ปรึกษาของสำนักงานฯ แนะนำการอนุมัติใช้ยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยเมิร์ก แอนด์ โค (Merck & Co) และริดจ์แบ็ก ไบโอเทอราพิวทิก แอลพี (Ridgeback Biotherapeutics LP) ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก