"เยียวยานักเรียนตกหล่น" หัวละ 2,000 บาท กว่า 3.2 แสนคน ใครได้สิทธิบ้าง
ตรวจสอบมติครม.จ่ายเงิน "เยียวยานักเรียนตกหล่น" จำนวนกว่า 3.2 แสนคน ตามมาตรการเยียวยาโควิด-19 ในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนจำนวน 2000 บาทให้กับผู้ปกครองผ่านทางโรงเรียน สถาบันการศึกษา ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ
“เยียวยานักเรียนตกหล่น” ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2000 บาทไปแล้วจำนวน 23,226 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแก่นักเรียนรวมทั้งสิ้น 11,934,661 คน
แต่ปรากฏว่ายังมีนักเรียน-เด็กเล็กจำนวน 321,461 คน ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว
ตรวจสอบข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 พบว่า ครม.ได้เห็นชอบการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนกลุ่มตกหล่น หรือนักเรียนตกค้างอยู่จำนวนกว่า 3 แสนคน แล้ว
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เห็นชอบการใช้จ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ภายใต้เงินกู้ ตาม พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 อีกจำนวน 642 ล้านบาท
เพื่อใช้ในโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
โดยงบประมาณที่อนุมัติเพิ่มครั้งนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องได้รับเงิน “เยียวยานักเรียนตกหล่น” จำนวน 321,461 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ (กลุ่มตกหล่น) หรือต้องได้รับเงิน "เยียวยานักเรียนตกหล่น" อาทิ
นักเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นักเรียนในสังกัดโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 15,264 คน
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพปวช. (อายุ 6 - 18 ปี)
ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 231,839 คน
กลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กกลางวัน และโรงเรียนอนุบาล ที่มีอายุระหว่าง 2 - 6 ปี
ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดได้ตรวจสอบความซ้ำ กับเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยจะส่งข้อมูลให้กระทรวงศึกธิการ จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 74,358 คน