ข่าว

ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8

ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8

15 ธ.ค. 2564

"ทำนุ เกียรติก้อง" ได้เขียนจม.ถึง "จอมพลถนอม" เรียกร้องให้รีบคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว" ชื่อดังกล่าวคืออจ.ป๋วยนั่นเอง ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ในเรื่อง ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8

 

ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8

 

"มีเหตุผลจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ราชบัลลังก์ ตลอดจนเป็นอุปสรรค ขัดขวางการบริหารงานราชการแผ่นดินมิให้ก้าวหน้าไปได้ตามแผนการที่ได้วางไว้แล้ว"
 

นี่เป็นถ้อยแถลง ในช่วงหนึ่งของคณะรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ภายใต้การนำของ "จอมพล ถนอม กิตติขจร" ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2514 ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติสนามเสือป่า
 

ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว เวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 "จอมพลถนอม" ได้นำกำลังทหารตำรวจและพลเรือน เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลของตัวเอง จากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมง "คณะก่อการ"จึงทยอยอ่านแถลงการณ์ ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง โดยยกเลิกการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 เพื่อให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ โดยที่เหตุการณ์ก็ได้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น 

 

ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8
 
ภายหลังการยึดอำนาจได้ราว 3 ชั่วโมง เวลา 22.50 น.คณะก่อการภายใต้การนำของ "จอมพลถนอม" พร้อมด้วยคณะซึ่งประกอบด้วย "พลเอก ประภาส จารุเสถียร"  "นายพจน์ สารสิน"  "พล.ต.อ ประเสริฐ รุจิรวงศ์" และ "พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์" จึงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ตำหนักจิตรลดารโหฐาน กราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องก่อการรัฐประหารในครั้งนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท โดยทรงหวังว่าการดำเนินงานของคณะรัฐประหารครั้งนี้ จะนำความเจริญและความปลอดภัยมาสู่ประเทศชาติ ซึ่งต่อมาก็ได้ปรากฏพระราชหัตถเลขา ความว่า "ขอให้คณะปฏิวัติจงรักษาและปฏิบัติตามปณิธานที่ตั้งไว้ให้จงดี"

 

ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8  

จากนั้นคณะก่อการ ได้ประกาศยกเลิกสภานิติบัญญัติ ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 แต่ก็ถูกต่อต้านจากประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง จนถูกโจมตีผ่านสาธารณะอย่างเปิดเผยมากกว่าในยุคก่อนๆมา


ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8

 

โดยเฉพาะกรณีที่ "นายป๋วย อึ้งภากรณ์"ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนจดหมาย ที่ถูกจารึกฉบับประวัติศาสตร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ประท้วงการรัฐประหารครั้งนี้มาจากประเทศอังกฤษ ในนามของ "นายเข้ม เย็นยิ่ง"ซึ่งเป็นชื่อรหัสเรียกขานประจำตัวสมัยเป็น "เสรีไทย" 


จม.อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์
 
เนื้อหาจดหมายฉบับนี้ ระบุว่า เขียนถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อ "ทำนุ เกียรติก้อง" ซึ่งหมายถึง "จอมพลถนอม" นั่นเอง โดยเรียกร้องให้รีบคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว 
 

ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ "นายอุทัย พิมพ์ใจชน"อดีตส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จากจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยอดีต ส.ส. พรรคเดียวกัน อีก 2 คน คือ "นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ" ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก และ "นายบุญเกิด หิรัญคำ" ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2515 ให้ดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหารในข้อหากบฏต่อแผ่นดินและล้มล้างรัฐธรรมนูญในกรณีที่ยึดอำนาจตัวเอง จนกลายเป็นที่โจษขานเป็นวงกว้างในสมัยนั้น แต่ทั้ง 3 คนก็ถูกจับตัวในทันที พร้อมกับบังคับใช้มาตรา 17 ตามรัฐธรรมนูญ สั่งให้จำคุกนาย อุทัย เป็นเวลา 10 ปี ส่วนนายอนันต์และนายบุญเกิดให้จำคุก 7 ปี 
 

ต่อมาคณะรัฐประหารจึงประกาศใช้  "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515"  แทนในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2515 มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 23 มาตรา ซึ่งธรรมนูญการปกครองฉบับนี้เหมือนกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ทั้งชื่อ หลักการและแนวทางในการปฏิบัติ
 
ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย ขยายภาพ”รัฐประหาร”อดีต แต่ล้มเพราะอำนาจ”ประชาชน”EP.8
 
โดยที่มีสาระสำคัญ คือการนำมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการใดๆได้อย่างเสรี หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดให้ถือว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือมีกฎหมายฉบับใดๆมารองรับ เหมือนกับยุคของ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการ และยังบัญญัติให้ใช้มาตรานี้ย้อนหลังกับการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้อีกด้วย
 

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ข้าราชการประจำ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งก็มีมติให้จอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

สัญญา ธรรมศักดิ์
 

กระทั่งในปีต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ คือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516” ซึ่งเป็นเหตุให้"จอมพล ถนอม"ต้องพ้นจากอำนาจนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ "นายสัญญา ธรรมศักดิ์" เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ และถือเป็นการสิ้นสุดการบังคับใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 เป็นกฎหมายปกครองสูงสุด ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 รวมเวลาบังคับใช้อยู่ 1 ปี 9 เดือนกับอีก 22 วัน

 

ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์