ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ผลิต "เมล็ดพันธุ์ดี" เพิ่มรายได้เกษตรกร
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ผลิตและกระจาย "เมล็ดพันธุ์ดี" เพื่อผลิตข้าวคุณภาพและเพิ่มพูนรายได้ให้กับเกษตรกร
นายฉันทลักษณ์ ฆารไสว ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด ในปัจจุบันได้ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิปลอดภัย (GAP) และข้าวหอมมะลิอินทรีย์มากขึ้น โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ได้เข้ามามีบทบาทในการกระจาย "เมล็ดพันธุ์ข้าว" พันธุ์ดีสู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ใกล้เคียง จึงทำให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นายฉันทลักษณ์ ฆารไสว
สำหรับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตและกระจาย "เมล็ดพันธุ์ดี" สู่เกษตรกร ได้ดูแลกลุ่มเกษตรกร 30 กลุ่ม พื้นที่การปลูกข้าว 15,000 ไร่ ที่ผ่านมามีการผลิต "เมล็ดพันธุ์" อยู่ที่ 4,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการ "เมล็ดพันธุ์ดี"ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของการส่งเสริมการผลิตข้าวที่ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ดูแล
อาทิ โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (1 ล้านไร่) โครงการส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน (ศูนย์ข้าวชุมชน) โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 30 กลุ่ม มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง เพื่อรองรับผลผลิตที่กลุ่มดำเนินการผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูป การพัฒนาการตลาด รวมถึงการบริหารจัดการกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ได้รับงบประมาณ 80 ล้านเศษ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ตรงตามมาตรฐาน GAP ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างช่องทางการเงินที่หลากหลายกับกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
นายฉันทลักษณ์ ฆารไสว ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นโครงการที่ดี ต่อยอดให้กับกลุ่มเกษตรกรไม่ว่าจะเป็น ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเกษตรกร เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาด้านการผลิต ส่งผลให้ข้าวมีคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นในการใช้ "เมล็ดพันธุ์ดี"ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ หากยังเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตอีกด้วย การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "เมล็ดพันธุ์" จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวนาไม่ควรมองข้าม การใช้ "เมล็ดพันธุ์ดี "ทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดต้นทุนการผลิต เพราะผ่านการคัดเลือกรวงที่สมบูรณ์แล้ว จึงลดเชื้อโรคและการใช้สารเคมีกำจัดโรค ผลผลิตสูง และทำให้กำไรต่อพื้นที่มากยิ่งขึ้น