ย้อนรอย 89 ปีรธน.ไทย “หลังคนไทยนองเลือด…ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน”EP.9
หลังผ่านพ้นวันมหาวิปโยค เข้าสู่โหมดการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญอีกฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่ว่ากันว่า เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะว่า มีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น ในหลายเรื่องด้วยกัน ติดตามได้จากย้อนรอย 89ปีรธน. EP.9
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้นถึง 238 มาตรา ซึ่งมากกว่ารัฐธรรมนูญไทยฉบับก่อนมาทุกฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ร่างขึ้นในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หลังผ่านพ้น "วันมหาวิปโยค"จนถูกขนานว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะว่า มีบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น ในหลายเรื่องด้วยกัน
โดยเริ่มต้นในหมวด 1 บททั่วไป ได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ รัฐธรรมนูญ
และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ได้บัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกว่า "ในการสืบราชสันตติวงศ์นั้น ในกรณีที่ไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ได้" นอกจากนี้ยังได้มีบทบัญญัติอันเป็นการเพิ่มหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และประโยชน์ของประชาชนไว้มากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านๆ มาก่อนหน้านั้น
รัฐธรรมนูญร่างขึ้นในรัฐบาลของ "นายสัญญา ธรรมศักดิ์"ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารประเทศหลัง"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ซึ่งจากเข้ารับหน้าที่นายสัญญา ได้ประกาศให้สัญญาประชาคมกับประชาชนว่า จะเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในประเทศโดยเร็ว จากนั้นจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 18 คน
โดยคณะกรรมการชุดนี้ ได้นำเอา "รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492" มาเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้การยกร่างแล้วเสร็จได้ภายใน 3 เดือน และจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข แต่คณะรัฐมนตรีก็แก้ไขเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 จำนวน 238 มาตรา
แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้การยอมรับถึงความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แม้จนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังผ่านกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
แต่ในที่สุดผ่านไปเพียง 2 ปี รัฐธรรมนูญฉบับที่น่าจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติการเมืองไทย ก็ถูกฉีกจนได้ เมื่อมีการทำรัฐประหารขึ้นอีก โดย "พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่"เป็นหัวหน้าคณะ และมี "พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" เป็นเลขาธิการคณะ
หลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทำให้การเมืองไทยยุคนั้น ต้องหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ "รัฐประหาร" และต้องประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว" ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กลายเป็นกงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนเวียนกลับมาที่เดิม แบบต่างกรรมต่างวะระกันอีกครั้ง
ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google
>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์