เหตุปะทะชายแดน"เมียนมา"ปะทุ ตอกย้ำผู้ลี้ภัย ยังกลับบ้านไม่ได้
ผ่านมาหลายสิบปี ความไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ทำให้ไทยยังต้องรับดูแลผู้หลบหนีภัยสงครามต่อไป โดยไม่รู้ว่าเมื่อใด...พวกเขาจะกลับถึงบ้าน
ฉับพลันที่ความรุนแรงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ปะทุขึ้นอีกครั้ง ซึ่งวันนี้ถึงขั้นมีกระสุนปืน ค.ข้ามมาตกฝั่งไทย ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แน่นอนว่าจากนี้ต้องมีผู้หนีภัยสงครามจะทะลักข้ามมาด้วย ขณะที่สองวันก่อนเพิ่งเกิดเหตุจลาจลใน "ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ” อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถึงขั้นเผาทำลายข้าวของและอาคารสถานที่ จนต้องมีการประกาศเคอร์ฟิว
“ความขัดแย้งที่ไม่มีบทสรุป” ของสถานการณ์ในเมียนมา ทำให้ไทยต้องเผชิญกับปัญหาต้องดูแลผู้อพยพหลบหนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศมาโดยตลอด และเหตุการณ์ความวุ่นวายในศูนย์ฯ บ้านแม่หละ ที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ไม่ใช่ความวุ่นวายที่เกิดเป็นครั้งแรก
“ศูนย์พักพิงชั่วคราวแม่หละ” หรือที่ราชการเรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ” ถือว่าเป็น “ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่บนพื้นที่ 1,150 ไร่ มีจำนวนผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ มาอาศัยอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน และถือเป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยในชายแดนไทยฝั่งตะวันตกที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527
เนื่องจากการสู้รบในเมียนมาในช่วงนั้น ที่มีการตั้งฐานทัพของรัฐบาลทหารเมียนมาตลอดชายแดนไทย กระทั่งในฤดูฝน แทนที่จะถอนกําลังกลับไปยังฐานทัพที่อยู่ลึกเข้าไปในประเทศ จนส่งผลกระทบตามมาคือ ผู้อพยพซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก อพยพข้ามแดนมาฝั่งไทย แล้วไม่สามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเรือนได้
รัฐบาลไทยจึงจําเป็นต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และผ่อนปรนให้ “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” อาศัยอยู่ในเขตไทยได้เป็นการชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันนี้มี "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวต่าง ๆ รวม 9 แห่งใน 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรี และกาญจนบุรี
ทั้งนี้ศูนย์ฯ บ้านแม่หละ กลายเป็นศูนย์ฯ ขนาดใหญ่ที่สุด เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ยุบรวมพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณโดยรอบไปไว้ในที่เดียวกัน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และความสะดวกต่อการบริหารจัดการ
”ศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ” ตั้งอยู่ริมทางหลวง หมายเลข 105 แม่สอด - แม่สะเรียง มีลวดหนามกั้นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอก ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสูง มีลำห้วยแม่ผารูไหลผ่าน อยู่ห่างจากชายแดนเพียง 5 กิโลเมตร และด้วยลักษณะทางกายภาพ ทำให้มีประชากรทั้งจากในศูนย์ฯ เดินทางเข้าออก และยังพบประชากรจากฝั่งเมียนมา ลักลอบเดินทางเข้ามาอีก ทำให้การนับยอดจำนวนประชากรไม่เคยนิ่ง
โดยมีหลายหน่วยงานจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและสำรวจสภาพภายในศูนย์ฯ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชน เช่น UNHCR COERR TBC ADRA องค์กรผู้พิการนานาชาติ (Handicap International: HI) ฯลฯ ทั้งยังมีองค์กรที่ดำเนินงานโดยผู้ลี้ภัยเอง เพื่อช่วยกันบริหารจัดการในศูนย์พักพิงฯ ให้มีระเบียบเรียบร้อย
ที่ผ่านมาตลอดกว่า 30 ปี รัฐบาลไทยวางแผนเพื่อส่งกลับผู้อพยพกลับมาตุภูมิมาโดยตลอด แต่ปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานไม่ก้าวหน้าลุล่วงไปได้ คือสถานการณ์ความขัดแย้งในกลุ่มชาติพันธุ์ และการสู้รบภายในของเมียนมา ที่เป็น "ความขัดแย้งที่ไม่มีบทสรุป" รวมถึงมาตรการรับกลับผู้อพยพของเมียนมา เพราะปัจจัยที่ทุกฝ่ายคำนึงถึงมากที่สุดคือ "ความปลอดภัยของผู้อพยพ" และ "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" เพื่อให้ผู้อพยพสามารถกลับถิ่นฐานบ้านเกิดไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทุกวันนี้ผู้ลี้ภัยจึงอยู่ในภาวะที่กลับไม่ได้และไปไม่ถึงบ้านเสียที