ข่าว

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ "แปลงใหญ่" ด้วยเกษตรสมัยใหม่

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ "แปลงใหญ่" ด้วยเกษตรสมัยใหม่

18 ธ.ค. 2564

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ "แปลงใหญ่" ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดเพื่อพัฒนาการผลิตของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

นางกรียา สุชัยแสง ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ หมู่ 9 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์นาภู) กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์นาภู  ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 เริ่มต้นกลุ่มด้วยการทำอินทรีย์ และเป็นสมาชิกเครือข่าย ตามโครงการขยายผลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ \"แปลงใหญ่\" ด้วยเกษตรสมัยใหม่

ซึ่งปี 2563 "กลุ่มแปลงใหญ่" ได้สมัครเข้าร่วมโครงการยกระดับ"แปลงใหญ่"ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เพื่อพัฒนาการผลิตของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ลดแรงงาน ประหยัดเวลา สามารถรวบรวมผลผลิตของสมาชิกเพื่อรวมกันขาย และสามารถจัดการการเก็บเกี่ยวผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ พัฒนาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้กลุ่มมีรายได้เป็นเงินทุนสำหรับดำเนินการขับเคลื่อนงาน "แปลงใหญ่" จากการให้บริการเครื่องจักรกล สมาชิกกลุ่มมีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 

ต่อมาในปี 2564 สมาชิกในชุมชน สนใจเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบ "แปลงใหญ่" มากขึ้น รวมเป็น 64 ราย พื้นที่ 903 ไร่ นอกจากนั้นกลุ่มมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกผักสวนครัวตามคันนาของสมาชิก ปลูกไว้กินเองเหลือกินก็ขายให้คนในชุมชน เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ในฤดูหลังนา(หน้าแล้ง) สมาชิกจะรวมกลุ่มปลูก พริก ต้นหอม ผักชี มะเขือ คะน้าน้ำเต้า ผักบุ้ง แมงลัก ณ พื้นที่หลังที่ทำการกลุ่มและมีน้ำในสระเก็บน้ำ รายได้จากการขายผักเป็นของสมาชิกไม่มีการหักเข้ากลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการปลูกมะม่วง ฝรั่ง แก้วมังกร และหน่อไม้ เป็นต้น

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ \"แปลงใหญ่\" ด้วยเกษตรสมัยใหม่

นางสาวศกลวรรณ อรัณยะนาค นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ สนับสนุนส่งเสริม ให้คำปรึกษาและอบรมให้ความรู้แก่สมาชิก เช่น การบริหารจัดการกลุ่ม, การผลิตเมล็ดพันธุ์ดี,วิธีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าว, การผลิตข้าวสู่มาตรฐานอินทรีย์ และ GAP, ระบบควบคุมภายใน (ICS) ของอินทรีย์ และ GAP แบบกลุ่ม, การจัดทำกองทุนเมล็ดพันธุ์   ไว้ให้สมาชิกกู้ยืมในยามขาดแคลน เป็นต้น

 

นอกจากนั้นกลุ่มยังได้ร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ภายในกลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต และมีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรในท้องถิ่นและข้าวพื้นเมืองเพื่อพัฒนาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและอาหารปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ความรู้และอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย

ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ถือหุ้น 164 ราย จำนวน 70,500 หุ้นๆ ละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 705,000 บาท ฤดูฝน ปี 2563 กลุ่มมีกองทุนเมล็ดพันธุ์ จำนวน 20 ตัน นอกจากนี้กลุ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 200 ตัน  เป็นเงิน 5,200,000 บาท (26 บาท/กก. ข้าวเปลือก)  และจำหน่ายข้าวคุณภาพ จำนวน 500 ตัน  เป็นเงิน 9,000,000 บาท (18 บาท/กก. ข้าวเปลือก)  

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ ยกระดับ \"แปลงใหญ่\" ด้วยเกษตรสมัยใหม่

กลุ่มได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 1. ต้องการพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ครบวงจร 2. ส่งเสริมเกษตรกรในตำบลหนองห้างทั้ง 9 หมู่บ้านซึ่งมีผู้ขึ้นทะเบียน 1,010 ครัวเรือน ผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือ GAP เพื่อที่จะได้ราคาที่สูงขึ้น 3. สร้างยุ้งฉางไว้เป็นที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือก

 

และ4. จัดหาเงินทุนเพื่อมารวบรวมผลผลิตของสมาชิกไว้แปรรูปหรือจำหน่ายให้มีมูลค่าและอำนาจการต่อรองด้านการตลาดมากขึ้น  ส่งผลให้สมาชิกทุกคนจึงต้องรับรู้ถึงเป้าหมายและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการได้ร่วมกันกำหนดไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารงานภายในกลุ่มให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายในทุกขั้นตอน และมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาอาชีพ หยิบเอาทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างธุรกิจในชุมชนให้เข้มแข็ง ที่สำคัญคือให้สมาชิกและเกษตรกรในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง มีรายได้ที่มั่นคงและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน