"ซีพี ออลล์" เดินหน้าปั้นรร.CONNEXT ED ยกระดับการศึกษาเพิ่มอีก 111 แห่ง
"ซีพี ออลล์" เดินหน้าปั้น CONNEXT ED ยกระดับการศึกษาเพิ่มอีก 111 รร. สร้างLife long Learning พร้อมโอกาสสร้างอาชีพ-รายได้ยั่งยืน ตลอดปีการศึกษา 64 - 65 เล็งปั้นภาคีเครือข่ายไผ่พอเพียงเพิ่มเติมปีละ 50 รร. มอบโอกาสสร้างความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนสู่ชุมชน
นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ร่วมขับเคลื่อนแผนงาน5เฟส หรือประมาณ 5 ปีการศึกษา “ซีพี ออลล์” ยังคงมุ่งมั่นดูแลและยกระดับการศึกษาของโรงเรียนและชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ในเฟสที่ 4 ปีการศึกษา 2564 ต่อเนื่องจนถึง 2565 แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 บริษัทยังคงเดินหน้าร่วมพัฒนาโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 111 โรงเรียน โดยจะสนับสนุนทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ อุปกรณ์การศึกษา วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น
พร้อมทั้งส่งบุคลากรในเครือที่ผ่านการพัฒนาทักษะและมีจิตสาธารณะ เข้าไปเป็นผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) เพื่อเป็นคู่คิดช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทร่วมสนับสนุนงบประมาณพัฒนาโรงเรียน CONNEXT ED สะสมจนถึงเฟส 4 กว่า 500 โรงเรียน
“จากการพัฒนาโรงเรียนใน 3 เฟสแรก วันนี้เราเห็นผลสำเร็จหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งหลักสูตรท้องถิ่นและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่ไม่เพียงแต่สร้างองค์ความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียน แต่ต่อยอดไปเป็นองค์ความรู้ของชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life long Learning" นายธานินทร์กล่าว
นายธานินทร์ กล่าวอีกว่าการเกิดขึ้นของโรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Best Practice จำนวน 25 โรงเรียน โรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model จำนวน 16 โรงเรียน โรงเรียนในโครงการร่วมพัฒนา หรือ Partnership School อีก 9 โรงเรียน ในเฟส 4 นี้
นอกจากเราจะร่วมพัฒนาโรงเรียนและโครงการใหม่ๆ ทั้งโครงการด้านวิชาชีพ ด้านเกษตรกรรม ด้านวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เราจะยกโมเดลความสำเร็จของบางโรงเรียนมาขยายผลสู่โรงเรียนอื่นต่อไปด้วย เพื่อมอบโอกาสดีๆ ให้แก่โรงเรียนที่ต้องการโอกาสได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับช่วงปลายปีการศึกษา 2564 ถึงต้นปีการศึกษา 2565 มีโครงการของโรงเรียน Best Practice, School Model และ Partnership School ที่ "ซีพี ออลล์" เข้าไปช่วยพัฒนาและโดดเด่นหลายโครงการ อาทิ โครงการ Smart Farmer ของโรงเรียนบ้านโคกมะเมียน จ.สุรินทร์ บูรณาการองค์ความรู้ของชุมชนเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ให้นักเรียนและคนในชุมชนมีความเข้าใจภาคเกษตรกรรมในทุกมิติ
ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ และด้านเทคโนโลยี และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ภาคเกษตรกรรมของไทยในอนาคต พร้อมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลินิล ช่วยให้โรงเรียนและชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
โครงการ “หูหิ้วถ้วยกาแฟ เส้นกกสายใยรักษ์โลก” ของ โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง พลิกโฉมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่หลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
โครงการ “ท่องโลกกล้วย” ของโรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ จ.นครศรีธรรมราช นำการแปรรูปปาล์มกล้วย มาบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน และคนในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน
รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ที่มีกว่า 152 โรงเรียน ด้วยโมเดลจากโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่บูรณาการเรื่องการจัดการขยะเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ลดขยะในโรงเรียนจาก 15 ตันเหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน
ด้านนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ CONNEXT ED ของ "ซีพี ออลล์" กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านแล้ว โครงการ CONNEXT ED ของซีพี ออลล์ ยังเดินหน้าตามกรอบยั่งยืน 3 มิติด้วย ได้แก่
1.การสร้างโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้ ปลูกฝังให้โรงเรียนและชุมชนมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) แม้หลังเสร็จสิ้นโครงการ CONNEXT ED แล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้โรงเรียนและโครงการของโรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้
2.การบูรณาการความรู้สู่หลักสูตรสถานศึกษาหรือหลักสูตรท้องถิ่น บูรณาการจุดเด่นของแต่ละโครงการเข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง สร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งแบบลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) และแบบปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ที่มีความสอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้อีกด้วย
3.การพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นพื้นที่เปิดให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบคอร์สระยะสั้น สร้างการเรียนรู้แบบ Life long Learning และพิจารณาขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ
“เรามองว่าโครงการที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จของบางโรงเรียน สามารถนำไปขยายผลสร้างประโยชน์ให้โรงเรียนอื่นๆ ต่อได้ทันที เช่น โครงการต้นกล้าไร้ถัง ที่ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายเป็นของตัวเองแล้ว และจะเพิ่มจำนวนโรงเรียนในภาคีอย่างต่อเนื่อง
โดยปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมาเราต่อยอดสร้างภาคีเครือข่ายไผ่พอเพียงขึ้นอีก 1 ภาคี นำโครงการของโรงเรียนบ้านน้ำย้อย จ.ลำพูน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการแปรรูปพืชเศรษฐกิจอย่างไผ่ มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ถ่านไม้ไผ่ ชาใบไผ่ โดยตั้งเป้าว่าจะมีโรงเรียนเข้าร่วมภาคีเพิ่มเติมปีละประมาณ 50 โรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก” นายตรีเทพ กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าจะส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model เพิ่มเติมจาก 16 แห่งในปัจจุบัน สู่ 26 แห่งภายในปีการศึกษา 2565 อีกด้วย เพื่อให้เกิดต้นแบบที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกโครงการ CONNEXT ED สามารถยึดเป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้เรียน โรงเรียน และชุมชนได้ต่อไป