รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยผลัดใบช่วงที่ 4 EP.12
ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่13 อยู่หลายครั้ง สุดท้ายประสบความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.2528 ว่าด้วยเรื่อง ระบบการเลือกตั้ง โดยแก้ไขจากแบบรวมเขตรวมเบอร์ หรือ คณะเบอร์เดียว มาเป็นการเลือกตั้งแบบผสม ติดตามได้ที่ย้อนรอย89ปีรธน.ไทย EP.12
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นี้ เป็นผลจากการร่างของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญเก่า และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ แล้วประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติทั้งหมดรวมบทเฉพาะกาล 206 มาตรา โดยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาล ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศใช้ โดยหลักการคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2515 และ 2517
ขณะเดียวกันได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.2528 ว่าด้วยเรื่อง ระบบการเลือกตั้ง โดยแก้ไขจากแบบรวมเขตรวมเบอร์ หรือ คณะเบอร์เดียว มาเป็นการเลือกตั้งแบบผสม เขตละไม่เกิน 3 คน การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง คือ ครั้งที่ 2 นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2532 เกี่ยวกับเรื่องประธานรัฐสภา โดยแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภา
ตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปี ของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นช่วงเปลึ่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญ และถูกระบุว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบ และเป็นยุคที่ 4 ของระบอบประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ พ.ศ.2475 กระทั่งมาผลัดใบต่อเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ซึ่งคณะรัฐประหารต้องการให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 1 ปี หลังการรัฐประหาร และแต่งตั้ง "พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์"ผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ในเวลาต่อมานายทหารกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนไปสนับสนุน"พลเอก เปรม ตินสูลานนท์" ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม และระหว่างนั้นยังได้มีความพยายามที่จะก่อการรัฐประหาร เพื่อล้มรัฐบาลภายใต้การนำของ "พล.อ.เปรม"ถึงสองครั้ง
ครั้งแรกวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 โดย "พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา" รองผู้บัญชาการทหารบก นำนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น "ยังเติร์ก" ซึ่งขณะนั้นล้วนมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่างๆ อยู่ในกองทัพบก นำโดย "พันเอก มนูญ รูปขจร" ตั้งเป็นคณะผู้ก่อการที่เรียกว่า "คณะกรรมการสภาปฏิวัติ" และจับตัว "พลเอก เสริม ณ นคร" ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโท หาญ ลีลานนท์ , พลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรี วิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก
การรัฐประหารครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ส่วนฝ่ายรัฐบาลโดย พล.อ.เปรม ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา และตั้งกองบัญชาการตอบโต้ โดยใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหารและได้กำลังสนับสนุนจากพลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
ในที่สุดการก่อรัฐประหารหวังยึดอำนาจ จึงยุติลงในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน และฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน ทำให้ "พล.อ.สัณห์ และ พ.อ.มนูญ" ตกเป็นกบฏ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และถูกเรียกว่า กบฏเมษาฮาวาย
และในครั้งถัดมา คือในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ก็ได้เกิดความพยายามที่จะรัฐประหารรัฐบาล "พล.อ.เปรม"อีกครั้ง ขณะที่อยู่ระหว่างเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ส่วน "พล.อ.อาทิตย์" ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ติดการเยือนต่างประเทศอยู่ที่สวีเดน โดยฝ่ายก่อการอ้างเหตุผลที่กระทำว่า ไม่พอใจที่รัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน และปัญหาอาชญากรรมได้
แต่สุดท้ายการรัฐประหารครั้งนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งที่ 2 ทำให้กลุ่มผู้ก่อการ ที่มี "พ.อ.มนูญ"และ "นาวาโท มนัส รูปขจร" น้องชายที่อยู่เบื้องหลัง จึงตกเป็นกบฏอีกครั้ง
\
ภายหลังรัฐบาลบริหารประเทศ จนกระทั่ง "พล.อ.เปรม" ประกาศยุบสภา และกำหนดมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2531 แต่ระหว่างกำลังจะมีการเลือกตั้ง เกิดกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 ของ "พล.อ.เปรม"จากกลุ่มนักวิชาการ
หลังการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบ”พล.อ.เปรม”ที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่ท่านได้ปฏิเสธ ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง "พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ"(ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ขณะที่ "พล.อ.เปรม" ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น "องคมนตรี" และยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ
แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนหัวหน้าทีม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังบังคับใช้เป็นเวลาค่อนข้างยาวนานถึง 12 ปีเศษ กระทั่งมาถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ภายใต้การนำของ "พลเอก สุนทร คงสมพงษ์" ได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลของ "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ถือเป็นการปิดฉากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 12 ปี 2 เดือน 1 วัน
ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google
>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์