ข่าว

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดแจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดแจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน

20 ธ.ค. 2564

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดชี้แจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริต โดยส.ว.แนะแก้ปัญหาลดโทษแก่นักโทษทั้งในส่วนวิธีการ และการใช้ดุลพินิจของบุคคลที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในการกำหนดเกณฑ์การลดโทษ-เลื่อนชั้นนักโทษ รวมทั้งการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 2560

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกับ “คมชัดลึก” ว่า วันนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณากระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษ และหารือถึงข้อเสนอเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 ซึ่งวันนี้ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม,  ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เดินทางมาชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว 

 

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดแจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน

 

ทั้งนี้ ทั้ง 3 คน ได้ชี้แจงในประเด็นข้อหารือที่ทางกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ได้กำหนดไว้ คือ 1. การกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในกระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษ 2. วิธีการเลื่อนชั้นนักโทษ และ 3.กรณีคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ที่มีการทุจริตเงินจำนวนมากถึง 1.6 แสนล้านบาท แต่มีการลดโทษแก่นักโทษมากถึง 4 ครั้งในรอบ 1 ปี ซึ่งสังคมไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งการเชิญมาหารือและชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ก็เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมได้กำหนดไว้เป็น 3 ระยะด้วยกัน คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 
 

 

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นนั้น ให้มีการตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น  หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาที่ออกไปแล้ว เจอปัญหาอไร ก็ให้ตรวจสอบดูว่ามีบุคคล หรือมีช่องว่างอะไร ก็ให้ไปแก้ปัญหา ซึ่ง กมธ.อยากให้แก้ปัญหา เช่น ถ้าเกิดช่องว่างว่าไปเลื่อนชั้นนักโทษคนใด เกิดปัญหาตรงไหน เกิดจากวิธีการ หรือเกิดจากดุลพินิจ ที่เสนอมาจากเรือนจำ จากกรมราชทัณฑ์ ก็ให้ไปแก้ไข และการประกาศเลื่อนชั้นนักโทษแต่ละปีนั้นเป็นยังไง บางคนได้ลดโทษถึง 4 ครั้งติดต่อกันใน 1 ปี ก็ให้ไปดูว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน ถ้าปัญหาเกิดจากกติกา ก็ต้องไปแก้ไข 

 

“คือต้องตรวจสอบว่าการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ที่ลดโทษไป โดยเฉพาะในปี 2558, ปี 2559, ปี 2563 และปี 2564 เกิดช่องว่างอะไร ใครได้ประโยชน์ หรือกระทำให้บุคคลบางคน บางกลุ่มได้ประโยชน์หรือเปล่า เช่น กรณีจำนำข้าว 1 ปี ลดไป 4 ครั้ง โทษลดไปตั้ง 42 ปี โดยเฉพาะที่มีการระบุว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมตั้งแต่ต้นนั้น มีเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างไร เพราะอย่างกรณีคดีทุจริตจำนำข้าว ประเทศชาติได้รับความเสียหายถึง 1.6 หมื่นล้านบาท  และยังไม่มีการนำเงินมาชดเชยให้กับประเทศชาติเลย จะกลายเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้อย่างไร” นายสมชาย ระบุ

 

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดแจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน

ประธานกมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาระยะกลาง คือให้ไปแก้ไขในชั้นบริหาร ว่าควรจะแก้ไขยังไง ถ้าเจ้าหน้าที่มีการใช้ดุลพินิจผิด ก็ต้องไปตรวจสอบ และแก้ไข  เช่น กรณีตรวจพบว่านักกีฬามีการใช้ยาโด๊ปเพื่อให้ได้ชัยชนะ ก็ต้องยึดเหรียญทองคืนมา หรือถ้ากรรมการตัดสินผิด ก็ต้องมีการแก้ไขใหม่  กรณีคดีลดโทษนี้ ไม่ใช่ความผิดของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แต่ผิดที่ตัวบคคล ก็ต้องเอาตัวบุคคลออกมาเพื่อแก้ปัญหา

 

“ถามว่ามีนักโทษคนไหนในประเทศนี้ที่มีการลดโทษทีเดียว 4 ครั้ง ใน 1 ปี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน จะมาอ้างกฎหมายไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ไขในรายละเอียด  กมธ.ไม่ได้มาจับผิดรัฐมนตรี ปลัด กระทรวง หรืออธิบดี แต่ถ้าไม่แก้ไข ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมของกระบวนการลงโทษ เพราะกรณีการลดโทษที่เกิดขึ้นนั้น คณะกรรมาธิการฯ เห็นแล้วไม่สบายใจ ส่วนเรื่องของคนที่ออกไปจากเรือนจำแล้วนั้น กมธ.ก็มีความเห็นกันหลายครั้ง เช่น กรณีกำไลข้อเท้า EM หรือกรณีการบำบัดนักโทษยาเสพติด การบำบัดรักษา เราก็สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาเพื่อช่วยให้เรือนจำเบาบางลง ลดจำนวนนักโทษลง นำคนดีคืนสู่สังคม และควรเอาคนที่โทษน้อยได้ออกมา แต่คนโทษน้อยที่ยังไม่ได้ชดใช้เลย ก็ควรได้รับการดูแลในคุกก่อน เพราะได้ข่าวว่าจะมีการพักโทษตอนต้นปีหน้าด้วย ” นายสมชาย ย้ำ 

 

“สมชาย” เผย 3 บิ๊กยุติธรรม รุดแจง ส.ว. ปมลดโทษนักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน


นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาว เช่น พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 จะมีการแก้ไขปัญหาตรงไหน เช่น นักโทษที่มีคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง อย่าง นายสมคิด พุ่มพวง จะมีการพิจารณาโทษอย่างไร  หรือกรณีของการจ่ายค่าปรับแทนการขังคุก ซึ่งมีมากถึง 1,000 คนที่เข้าข่ายนี้ ก็ต้องนำมาพิจารณา โดยทำเป็นข้อมูล Big Data ซึ่งก็มีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว 

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายสมชาย เคยโพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการและข้อกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการลดหย่อนโทษในคดีคอร์รัปชันที่มีปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะคดีทุจริตสำคัญร้ายแรงทุจริตจำนำข้าว โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขเป็น 3 ระยะดังนี้คือ

 

แนวทางเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีควรสั่งให้ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ที่สังคมให้ความเชื่อถือ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้แทน จากกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการอัยการ กรรมการป.ป.ช. องค์กรต่อต้านคอรัปชัน ผู้แทนสื่อมวลชน ฯลฯ ร่วมดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้การลดหย่อนโทษดังกล่าวออกไประยะหนึ่งก่อน โดยกรรมการควรมีหน้าที่ตรวจสอบอย่างน้อยดังนี้

1) ตรวจสอบกฎกติกาและกระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษที่มีรายชื่อเข้าเกณฑ์ลดโทษในคดีร้ายแรงสำคัญเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับคดีนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ร้ายแรง คดีฆ่าคนตายที่มีโทษประหารชีวิต คดีฆ่าข่มขืนที่เป็นภัยสังคมร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ ฯลฯ ที่เดิมมีนโยบายไม่ลดโทษแบบคดีทั่วไป เพราะคดีทุจริตโกงจำนำข้าวเป็นคดีพิเศษร้ายแรงสำคัญ
ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์ลดโทษเช่นคดีปกติทั่วไป

 

2) เร่งตรวจสอบกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ ในการใช้ดุลยพินิจทุกขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดี และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ในการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดเป็นชั้นดี ชั้นเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ว่า มีเหตุต้องสงสัยหรือไม่ ที่อาจมุ่งให้เฉพาะนักโทษเด็ดขาดบางคน มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิพิเศษต่อเนื่อง เพื่อรอเวลาพระราชทานอภัยโทษตามห้วงเวลาสำคัญประจำปี โดยอ้างว่าทำถูกกฎหมายและระเบียบหรือไม่

 

3) ถ้าพบปัญหาจากข้อ1)และข้อ2)เป็นรายบุคคลให้นำเสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะรายหรือเฉพาะคดี หากเป็นปัญหาข้อกฎหมายให้เสนอแก้ไขกฎหมายหรือกฎกระทรวงหรือระเบียบ

 

4) ให้แก้ไขนำหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 กลับมาใช้เป็นเกณฑ์

 


แนวทางระยะกลาง
1) ครม./ส.ส. /ประชาชน ยื่นเสนอแก้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 52 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มระยะเวลาปลอดภัยแก่สังคม 15-20 ปี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีโทษหนักประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือมีโทษจำคุกในคดีสำคัญพิเศษร้ายแรง ได้แก่ คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีฆาตกรฆ่าข่มขืน คดีทุจริตสำคัญร้ายแรง ฯลฯ ต้องได้รับโทษขังในเรือนจำขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15-20 ปี หรืออย่างน้อย 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งของโทษโดยจะไม่มีการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนด เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า สังคมจะปลอดภัยจากผู้กระทำผิดร้ายแรงที่เป็นภัยสังคมจะยังอยู่ในเรือนจำ ในระยะเวลาอย่างน้อย 15-20 ปี หรืออย่างน้อย1ใน3หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลมีคำพิพากษา

 

2) ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งการลดโทษหรือพักโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยเฉพาะคดีความผิดภัยสังคมร้ายแรง ที่มีโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยให้กรมราชทัณฑ์ ทำเรื่องขอไปยังศาลให้พิจารณา และเป็นการช่วยคัดกรองการรับโทษอย่างเหมาะสมพอเพียง การปรับปรุงตัว ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะทำเรื่องนำนักโทษคดีสำคัญเหล่านั้น เข้ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนความผิดต่ำกว่านั้นให้คณะกรรมการราชทัณฑ์ดำเนินการตามกฎหมายเองได้ต่อไป

 

3) ควรแก้ไขกฎหระทรวงและระเบียบราชทัณฑ์นักโทษคดีสำคัญ ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ได้แก่นักโทษประหารชีวิต นักโทษจำคุกตลอดชีวิต นักโทษจำคุก 20-50 ปีขึ้นไป นักโทษคดีทุจริตร้ายแรง หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคม เช่น ฆ่า ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ก่อนที่นักโทษเหล่านี้จะได้รับลดโทษการปล่อยตัวจำเป็นต้องมีการประเมินความพร้อม และต้องจัดให้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เข้าประเมินร่วมด้วย

 

แนวทางระยะยาว
1) แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เพื่อให้ผู้ต้องหาที่กระทำผิดร้ายแรงหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ศาลได้พิพากษาให้นักโทษได้รับการลงโทษจริงมากกว่ามีข้อห้ามจำคุกไว้ไม่เกิน 50 ปี ตามที่มีข้อจำกัดเดิม

 

2) เร่งแก้ไขปัญหาคนล้นคุกอย่างจริงจัง ควบคู่มาตรการอื่นๆ อย่างจริงจัง อาทิ มาตรการค่าปรับแทนจำคุก การบริการทางทางสังคม การบำบัดยาเสพติด การเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม การให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้มีหนี้สิน การติดแท็กส์อิเลกทรอนิกส์ติดตามความเคลื่อนไหว ฯลฯ และการให้ประกันตัวผู้ต้องหาแทนการคุมขังระหว่างสู้คดี

 

3) ควรพิจารณาอนุญาตให้มีโครงการเรือนจำเอกชน และโครงการจัดแยกสถานที่กักขังผู้ต้องหาที่ศาลไม่อนุญาตประกันตัว ออกจากเรือนจำปกติ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
กฎหมายประเทศในยุโรปและหลายประเทศสากล เช่น ฝรั่งเศส ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 132-23(6) กำหนดว่า คดีที่ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลจะต้องกำหนดมาตรการปลอดภัยให้สังคมคือการห้ามลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัวก่อน 18 ปี และหากศาลเห็นว่า เป็นผู้กระทำผิด ศาลสามารถกำหนดระยะเวลาปลอดภัยให้สังคมได้ 18-22 ปี ดังนั้นนักโทษร้ายแรงที่ถูกศาลจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษหนัก 50 ปี จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำแน่นอนอย่างน้อย 18-22 ปี โดยไม่รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด และเมื่อครบกำหนด 18-22 ปี ในระยะปลอดภัยของสังคมที่ศาลกำหนดแล้ว ศาลจะเป็นผู้ประเมินการปล่อยตัวเป็นรายๆพร้อมกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวหรืออาจยังให้ยังขังต่อไปในเรือนจำจนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาหรือมีการเสนอให้ศาลประเมินใหม่

 

กระบวนการลดโทษ ปล่อยตัวของไทยเป็นระบบปิด โดยฝ่ายบริหารของกรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยศาลไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องใด ทั้งๆ ที่กระบวนการยุติธรรมของไทยเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวนในชั้นตำรวจ ป.ป.ช. จนถึงชั้นอัยการในการส่งฟ้อง และมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพิจารณาคดีนานอย่างหนักทั้งผู้ฟ้องคดี อัยการ โจทก์ หรือจำเลย บางคดีต่อสู้กันถึง 3 ชั้นศาล แต่พอชั้นพักโทษ ลดโทษ หรือปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ให้คนออกจากคุก กลับไม่มีกระบวนการให้ยุติธรรมแบบเดียวกัน จึงสมควรแก้กฎหมายให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพักการลดโทษหรือปล่อยตัวนักโทษคดีสำคัญร้ายแรง คดีอุกฉกรรจ์ ที่ส่งผลร้ายต่อสังคม ก่อนที่คณะกรรมการราชทัณฑ์ จะนำเข้าสู่กระบวนลดโทษ พักโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษ ครับ จึงเรียนเสนอมาเพื่อช่วยกันพิจารณาแก้ไขหาทางออกคืนความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับชาติบ้านเมืองและสังคมไทยครับ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564  มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ รอบ 2 ปรากฏว่ามีนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เช่น

 

- นายภูมิ สาระผล อายุ 65 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 36 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 12 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 25 ส.ค. 2568

 

- นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 16 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 10 ปี กำหนดพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571

 

- นายมนัส สร้อยพลอย อายุ 69 ปี อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พิพากษาจำคุก 40 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษรอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 11 ก.ค. 2569

 

- นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อายุ 64 ปี นักธุรกิจค้าข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกลดโทษเหลือจำคุก 9 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน กำหนดพ้นโทษ 26 ธ.ค. 2566


- นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 75 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ต้องหาคดีทุจริตรับสินบนเงินใต้โต๊ะการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival) ปี 2545 พิพากษาจำคุก 50 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกเหลือจำคุก 17 ปี รอบสองเหลือจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน กำหนดพ้นโทษ 16 ก.ย. 2569